โรฮีนจาลี้ภัยไปบังคลาเทศน้อยลง
หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติในบังคลาเทศรายงานว่า จำนวนชาวมุสลิมโรฮีนจาที่อพยพหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาเข้ามาในพรมแดนบังคลาเทศลดลงในช่วง 2 วันทีผ่านมา
แต่โฆษกหญิงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) กล่าวกับสื่อบีบีซีว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่าสถานการณ์การทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจบลงแล้ว โดยทางหน่วยงานกำลังมีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการลดจำนวนลงของผู้ลี้ภัยรายใหม่
ทั้งนี้ ชาวโรฮีนจามากกว่า 400,000 คนอพยพหนีไปบังคลาเทศนับตั้งแต่กองทัพเมียนมามีการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮีนจาตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. โดยกองทัพเริ่มปฏิบัติการในรัฐยะไข่หลังจากกลุ่มกองทัพปลดปล่อยชาวโรฮีนจาแห่งอารากัน (Arsa) โจมตีป้อมตำรวจและปะทะกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย
กองทัพเมียนมาระบุว่า ปฏิบัติการมุ่งหวังเพื่อถอนรากถอนโคนกลุ่มก่อการร้ายและย้ำว่าไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีพลเมือง ผู้ลี้ภัยและนักข่าวที่เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่
ทั้งนี้ ชาวโรฮีนจาซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีสถานะความเป็นพลเมืองเมียนมา เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ ที่มีชาวพุทธเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ ต้องประสบกับความขัดแย้ง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังและประสบกับความรุนแรงมายาวนานในเมียนมา เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มผู้อพยพผิดกฎหมาย
วิกฤตล่าสุดทำให้นางอองซาน ซูจีถูกวิจารณ์จากนานาชาติอย่างหนัก เพราะเธอมีท่าทีเพิกเฉยไม่รับรู้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เธอจึงถูกกดดันให้จัดการกับความรุนแรงและวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เธอได้ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้กล่าวโทษกองทัพว่า กระทำการล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มชาติพันธุ์แต่อย่างใด
Peppi Siddiq โฆษกหญิงของ IOM กล่าวกับสื่อบีบีซีว่า จำนวนผู้ลี้ภัยลดลงอย่างผิดสังเกตในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
“ เหตุผลสำคัญคือ เรารับรู้เหตุการณ์ในรัฐยะไข่น้อยมาก และความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะสะท้อนโดยตรงกับความรุนแรงในบริเวณใกล้เคียงกับพรมแดน ”
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. เจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนบังคลาเทศกล่าวว่าผู้ลี้ภัยที่ข้ามเข้ามาแทบจะหยุดไปเลย
“ เจ้าหน้าที่ของเราแทบไม่เห็นชาวโรฮีนจาเข้ามาเลยในช่วง 2-3 วันนี้ ” SM Ariful Islam หัวหน้าชุดเจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนบังคลาเทศกล่าวกับสื่อเอเอฟพี “ สงครามจบลงแล้ว ”
ฟิลิปโป กรันดิ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า เขารู้สึกช็อกกับสิ่งที่เขาเห็นในระหว่างการเยือนที่พักพิงชั่วคราวสำหรับชาวโรฮีนจาในเขต Cox’s Bazar ของบังคลาเทศ
“ ความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดคือการให้สถานที่ที่เหมาะสมจะอยู่อาศัยแก่พวกเขา สิ่งที่กระทบใจผม คือจำนวนผู้คนที่มากจนไม่น่าเชื่อที่ต้องจัดหาบ้านชั่วคราวให้บนเนินเขาในเขต Cox’s Bazar ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กๆที่มีประชากรชาวบังคลาเทศอาศัยอยู่หนาแน่นมาก่อน ”