รู้ยัง? เสียงก่นด่าปมยี้! โครงการรัฐแจกเงิน มาจากใคร?
ถ้าสังคมไทยรู้ความจริง! ใครคือไอ้โม่ง “ดัดแปลงพันธุกรรม” ตัดต่อโครงการแจกเงินของรัฐ จนเป็นไปในแบบ “หยุมหยิม-จุกจิก-มากความ” ทำให้เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยาก อาจต้องเปลี่ยน “ตำบลกระสุนตก” กันใหม่ แล้วหันไปด่าให้ถูกตัวถูกองค์กร!
กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก!” ให้ชาวบ้านทั่วไทย…ได้ก่นด่ามาตลอด นับแต่มีโครงการรัฐ “แจกเงิน” ให้ประชาชน ผ่านแอปฯเป๋าตัง
ทั้งที่เป็นโครงการ รับเงินฟรีๆ เต็มร้อยเปอร์เซ็น หรือแบบโคเพย์…จ่ายคนละครึ่ง
ทุกครั้งที่ระบบมีปัญหา ระบบจะดีเลย์ หรือถึงขั้นล่ม! ก็เป็นแบงก์กรุงไทย ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีแอปฯเป๋าตังและถุงเงิน…ที่จะถูกด่าเป็นอันดับแรกๆ
อันที่จริง…กระทรวงการคลัง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คนที่ดูแลโครงการ/มาตรการเหล่านี้ มาตั้งแต่ยุคสมัย “สี่กุมาร” ภายใต้การนำของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ช่วงที่ยังดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญๆ และมีนายอุตตม สาวนายน นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง
ก็ถูกด่ามาก่อนแล้ว…
แต่ดูเหมือนห้วงเวลานี้…ที่ คนดูแลเศรษฐกิจแทน นายสมคิด อย่าง…นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ ควบเก้าอี้ ทั้งรองนายกฯและรมว.พลังงาน และการได้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ มานั่งตำแหน่ง รมว.คลัง
ถูกตั้งคำถามว่า…อาจทำให้กระทรวงการคลัง สศค. และแบงก์กรุงไทย ถูกด่าหนักกว่าปกติ! หรือไม่?
ลองดู…วันแรกของการเปิดใช้โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 คือ 1 ก.ค.2564 ด้วยแล้ว เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่…ผู้มีสิทธิในโครงการฯ เข้าไปเติมเงินเก็บไว้ใน G Wallet ของแอปฯเป๋าตัง เพื่อนำไปใช้จ่ายในแบบ “โคเพย์” ไม่ได้กันทั่วบ้านทั่วเมือง
ห้ามไม่ได้ที่ “จำเลยของสังคม” จะตกเป็นของแบงก์กรุงไทย
เรื่องเทคโนโลยี บางทีก็มีเหตุผลเรื่องความไวของอินเตอร์เน็ตเหมือนกัน เพราะครั้งหนึ่ง…ผู้ใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการรายหนึ่ง เคยสูญเสียโอกาสในการเข้าร่วมโครงการรัฐ เพียงเพราะสัญญาณอินเตอร์ของให้ผู้บริการรายนั้น…ดันมีปัญหาจริงๆ
แต่นั่น…ก็เป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว หันมาดูปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบของแบงก์กรุงไทย ที่ไม่อาจรองรับปริมาณความต้องการของผู้มีสิทธิในโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่แม้วันนี้…จะยังไม่เต็ม 31 ล้านคน ตามที่รัฐบาลตั้งไว้
ทว่าก็มีปริมาณมากพอจะทำให้ระบบเกิดภาวะ “ล่ม!” ได้ หากมีผู้ใช้ฯพร้อมกันเป็นจำนวนหลายล้านคน
หรืออาจเพราะในบางพื้นที่…สัญญาอินเตอร์เน็ตมีปัญหาจริงๆ
กระนั้น 3 หน่วยงาน “หนังหน้าไฟ” คือ กระทรวงการคลัง สศค. และแบงก์กรุงไทย ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้…
แต่ลึกๆ แล้ว ใครจะรู้บ้างว่า…โครงการของรัฐ ที่ดูเหมือน “จุกจิก…หยุมหยิม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง…
การลงทะเบียนยืนยันตัวตนใหม่ของ “คนละครึ่ง เฟส 3”
หรือ ความไม่เข้าท่าของโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่เอาเข้าจริง! มีคนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการไม่กี่แสนคน หรือเพียงแค่ 10% ของเป้าที่ตั้งไว้ 4 ล้านคน
ใครหรืออะไร คือ ตัวปัญหากันแน่!!??
แท้จริงแล้ว…สิ่งที่ สศค.และกระทรวงการคลัง รวมถึงแบงก์กรุงไทย ที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เพราะต้องนำเอาซอฟท์แวร์ที่ตัวเองมี มาปรับใช้กับตัวโครงการเหล่านั้น ร่วมกันคิด!…
หาได้เป็น…ตัวเดียวกับโครงการที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้
พูดให้เข้าใจง่ายๆ สิ่งที่ สศค. กระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ คิดและเสนอให้กับ นายสุพัฒนพงษ์ เพื่อนำไปพิจารณา ก่อนส่งต่อเข้าสู่ที่ประชุมของ คณะรัฐมนตรี นั้น
แต่เอาเข้าจริง! ตัวจริงของโครงการ…กลับถูกใครหน้าไหนก็ไม่รู้? แอบปรับแต่งแก้ไข “ดัดแปลงพันธุกรรม” ตัวโครงการจนแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเงื่อนไขใดๆ หรือการกำหนดวงเงินใช้จ่ายในบางโครงการที่ไม่ประสบผลสำเร็จ
กระทั่งเรื่องที่ปรากฏ! ไม่ต่างจากสำนวนที่ว่า “คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด” ปัญหาของโครงการรัฐ จึงกลายเป็นเรื่อง…โอละพ่อ! อย่างที่เห็น
เป็นประชาชนคนระดับล่างที่เป็นคนใช้จ่ายในโครงการรัฐ…ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
ขนาดว่า…มีเสียงยี้! กับโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” จนต้องดึงเรื่องกลับมาปรับแก้ใหม่ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายและระยะเวลาการใช้เงิน ซึ่งมันก็ใกล้เคียงกับของเดิมที่เคยเสนอให้ นายสุพัฒนพงษ์ พิจารณา
ถึงนาทีนี้…รู้ยัง? ใครคือตัวปัญหาทำให้โครงการรัฐ ทุกโครงการที่ผ่านมาเป็นปัญหา จนมีเสียงก่นด่าเต็มบ้านเต็มเมือง!!!.