ชี้ 4 ผลสะเทือนตลาดเกิดใหม่จากวิกฤติการเงินตุรกี
ชี้ผลสะเทือนจากวิกฤติการเงินตุรกี กระทบ “ตลาดหุ้น-ทุนเคลื่อนย้าย-ค่าเงิน-ดอกเบี้ย” หวั่น “ตลาดเกิดใหม่” และกลุ่มอียู อาจถึงเจ๊งจากนโยบาย “Ugly America” เชื่อเศรษฐกิจไทยสุดแกร่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในระดับเดียวกัน ด้านนักวิชาการอิสระส่งสารเตือน “ทรัมป์” ระวัง! เกมสหบาทาจากศัตรูทางเศรษฐกิจทั่วโลก
ชมรมตุลาประชาธิปไตย ร่วมกับ กลุ่มพลังเศรษฐกิจรุ่นใหม่ จัดสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “วิกฤติการเงินตุรกี กระทบเศรษฐกิจการเงินของโลกและไทยอย่างไร?” ณ ห้องมิตติ้งรูม สมาคมธรรมศาสตร์ ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550, สื่อมวลชนและนักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและตุรกีรอบนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของตุรกี ซึ่งมีโครงสร้างเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งและพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก กระทั่งมีหนี้สินต่างประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบไปยังสถาบันการเงินและประเทศเจ้าหน้านี้ของตุรกี ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี รวมถึงกลุ่มประเทศ “ตลาดเกิดใหม่” (Emerging Market) ที่ต้องเผชิญปัญหาเงินทุนไหลออกเป็นจำนวนมากเช่นกัน
นายพิเชียรกล่าวสรุปผลกระทบจากวิกฤติการเงินตุรกี ดังนี้ 1.ทำให้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ บราซิล อาร์เจนติน่า และแอฟฟริกาใต้ ลดลง 5-15%, 2.ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกกลับเข้าไปสู่สหรัฐฯ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทะยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในยุคของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ จาก 0% เป็น 2% ในปัจจุบัน และเตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในช่วงปลายปีนี้, 3.ทำให้ค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนตัวลงอย่างมาก และ 4.ทำให้อัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จำเป็นต้องปรับสูงขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาเงินทุนไหลออก รวมถึงเพื่อให้ค่าเงินของตัวเองสูงขึ้น และทำให้สภาพคล่องในประเทศไม่ตกอยู่ในภาวะฝืดเคืองมากเกินไป ซึ่งในส่วนของไทยเอง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (นายวิรไท สันติประภพ) เพิ่งส่งสัญญาณเตือนมา และเป็นสาเหตุทำให้คณะกรรมการการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณาปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม1.5% ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
“สหรัฐฯทำตัวน่าเกลียดมาก (Ugly America) นโยบาย America Frist ถือเป็นการรังแกกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และเป็นนโยบายที่ไม่รับผิดชอบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ วอลล์สตรีท (ตลาดหุ้นสหรัฐฯ) บริษัทค้าอาวุธ และบริษัทค้าน้ำมันของสหรัฐฯ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องไปยัง ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าอย่าได้แซงชั่นก์ประเทศเหล่านี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นตลาดเกิดใหม่ หรือแม้แต่กลุ่มประเทศอียู 27 ประเทศ ต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า และไม่แน่ว่าอาจเกิดการรวมตัวของประเทศเหล่านี้ เพื่อต่อสู้ในสงครามเศรษฐกิจกับสหรัฐฯในอนาคตได้” นายพิเชียรย้ำ พร้อมคาดหวังว่าสถานการณ์นี้จะค่อยๆ คลายตัวลง กระทั่งไม่ก่อปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกมากเหมือนเช่นในปัจจุบัน
ด้านนายภักดี ธนะปุระ ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในอีกแง่มุมว่า ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯสะสมมาตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของอดีต ปธน.สหรัฐฯคนก่อนๆ ที่มีส่วนทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้าสะสมเป็นจำนวนมาก จำเป็นอยู่เองที่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ จะต้องเข้ามาจัดการกับปัญหาของตัวเอง เนื่องจากทุกวันนี้ คนจนในสหรัฐฯมีเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ขณะที่คนรวยมีเพียง 1% แต่ถือครองความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สูงถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าผลจากนโยบายของสหรัฐฯช่วงที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ, ตลาดเกิดใหม่และของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับนายพิเชียรที่จะต้องส่งสารถึงยังปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อให้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเวทีเศรษฐกิจและการเงินของโลกในครั้งนี้
ขณะที่ นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม ผู้อำนวยการวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ KT Zmico กล่าวว่า ถึงตรงนี้ นักลงทุนยังคงวิตกกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีเรื่องวิกฤติการเงินของตุรกีเข้ามาเพิ่มเติม ก็ยิ่งสร้างความกังวลใจแก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่านักลงทุนคงต้องมองหาตลาดลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนสูง และตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดเกิดใหม่ เป็นผลทำให้เกิดการย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอย่างที่เห็นกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงรายได้ในรูปของเงินตราต่างประเทศ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ทำให้ปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนของไทยไม่รุนแรงเหมือนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้
“เป็นเรื่องดีที่ตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนกระเตื้องสูงขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากที่ผ่านมามักเห็นเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเมื่อรวมกับการส่งออกที่เติบโตขึ้นและรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น ยังเชื่อว่าจีดีพีของไทยก็น่าจะเติบโตในระดับ 4.6%” นายเจริญย้ำในที่สุด.