สศค.ชี้! เศรษฐกิจและดัชนี RSI ภาคตะวันออกดีที่สุด!
สศค.รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาค พ.ค.64 ชี้! เศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นภาคเดียวที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ทุกภาคที่เหลือล้วนได้รับผลกระทบจากโควิดฯ จนเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่น RSI ภาคตะวันออกยังคงนำคู่กับภาคเหนือ
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. แถลงรายงาน ภาวะเศรษฐกิจการภูมิภาคประจำเดือน พ.ค.และ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือน มิ.ย.2564 ทั้งนี้ พบว่า มีการชะลอตัวจากเดือนก่อนในหลายภูมิภาค แต่ภาพยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งการบริโภคอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
นายพิสิทธิ์ ระบุว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกขยายตัวได้ดีจากปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เศรษฐกิจภาคใต้ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ด้าน เศรษฐกิจภาคกลางชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงโดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง
เศรษฐกิจภาคตะวันตกชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากเดือนก่อน
ส่วน เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากเดือนก่อน
เช่นเดียวกับ เศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑลชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนโดยเป็นการขยายตัวจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงโดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี
ขณะที่ เศรษฐกิจภาคเหนือชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวจากทั้งการบริโภคอุปโภคและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเช่นกัน
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือน มิ.ย.2564 นายพิสิทธิ์ กล่าวว่า จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า ดัชนีRSI เดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาคสะท้อนถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะ ภาตตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะคลี่คลายจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
โดย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 62.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและการจ้างงานเนื่องจากเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก และมีนโยบายความช่วยเหลือภาคการเกษตรจากภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 59.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 57.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรเนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 56.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นจากมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะก่อให้เกิดความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ 48.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการบริการและการลงทุน เนื่องจากมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ47.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอลง เนื่องจากยังมีความกังวลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เช่นกัน อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในอนาคตของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น.