เกาหลีใต้อนุมัติเงินช่วยเกาหลีเหนือ
เกาหลีใต้อนุมัติเงินจำนวน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (266 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 21 ก.ย.เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เกาหลีเหนือ ท่ามกลางความพยายามจากนานาชาติที่จะโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือเพื่อให้เกาหลีเหนือหยุดโครงการสะสมอาวุธนิวเคลียร์
โดยความช่วยเหลือจากเกาหลีใต้ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการสำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ผ่านโครงการอาหารโลกมูลค่า 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมวัคซีนและบริการทางการแพทย์ผ่านองค์การยูนิเซฟมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังไม่ยืนยันเวลาในการให้ความช่วยเหลือ
ข่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีมุน แจ อินไม่ได้ลดระดับความสัมพันธ์ที่มีกับประธานาธิบดีคิม จอง อึนแห่งเกาหลีเหนือลงเท่าที่ควร แม้จะมีหลายประเทศที่ผลักดันให้มีการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือให้มากยิ่งขึ้น
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่กับเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 21 ก.ย.หลังจากมีการตอบโต้กันไปมาระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ โดยประธานาธิบดีคิมเอ่ยพาดพิงถึงการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำสหรัฐฯ ที่สหประชาชาติว่า เป็นการประกาศสงครามที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
แม้แต่จีนเอง ซึ่งที่ผ่านมาลังเลที่จะร่วมกดดดันเกาหลีเหนือ ก็ได้ยกระดับจุดยืนเมื่อวันที่ 21 ก.ย. โดยมีคำสั่งให้ธนาคารในจีนระงับการประกอบธุรกิจกับเกาหลีเหนือ อ้างอิงจากรายงานของสื่อรอยเตอร์
” การแสดงท่าทีและจุดยืนที่อ่อนลงถึงแม้ผู้นำเกาหลีเหนือจะยิงทดสอบขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์เมื่อเร็วๆ นี้ จะทำให้เกาหลีใต้ผิดใจกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกันได้ “ ที่ปรึกษาการเมือง Stratfor กล่าวในรายงาน
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนก.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ว่า ประธานาธิบดีมุนกำลังเอาใจเกาหลีเหนือ ขณะที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่นกระตุ้นเตือนให้ผู้นำเกาหลีใต้พิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์ของเขาในระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นายโยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ออกโรงเตือนถึงการกระทำใดๆที่จะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม Stratfor ชี้ว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือก่อนหน้านี้ ที่ผ่านมา ทางโซลได้จัดงบช่วยเหลือทางเปียงยางเฉลี่ย 11.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (392 ล้านบาท) ต่อปีมาตลอดสองทศวรรษ ยกเว้นในปี 2542, 2543 และ 2559 และเสริมว่า ทางโซลแถลงว่า การให้ความช่วยเหลือจะเชื่อมโยงกับการปฏิบัติตัวของทางเปียงยาง ซึ่งเป็นจุดยืนที่แตกต่างจากจุดยืนในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ
โดยครั้งสุดท้ายที่เกาหลีใต้ส่งความช่วยเหลือไปให้ประเทศเกาหลีเหนือคือในเดือนธ.ค. ปี 2558 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองว่า ความช่วยเหลือทั้งหลายจะไปถึงมือประชาชนที่ยากจนในเกาหลีเหนือแทนที่จะถูกแจกจ่ายไปให้กับกลุ่มชนชั้นผู้นำประเทศหรือกองทัพ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญขององค์กรนานาชาติ
Stephen Nagy ผศ.ประจำมหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติที่โตเกียวกล่าวว่า “ เกาหลีใต้ต้องการบอกให้เกาหลีเหนือรู้ว่า พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากภายนอกประเทศ และแสดงว่ายังมีมุมมองของความห่วงใยในความผูกพันที่เป็นอยู่ ”
ขณะที่เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังคงรวมตัวกันเป็นพันธมิตรในประเด็นความกังวลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ทางโซลเองก็มีมุมมองที่แตกต่างกันกับการมีพรมแดนประเทศติดกับเกาหลีเหนือ เนื่องจากเป็นประเทศแรกที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ความขัดแย้งก่อนประเทศอื่น.