เปิดแผนสิ่งแวดล้อม “อีอีซี” อนุรักษ์ ฟื้นฟู สร้างสมดุล ชุมชน
แผนสิ่งแวดล้อม ฯ ฉบับนี้ ถือเป็นกรอบแนวทางบริหารจัดการ เน้นจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อม รู้เท่าทัน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง
การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย รวมทั้งเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ดึงดูดการนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และประเทศ
รวมทั้งพื้นที่อีอีซียังเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเป็นหลัก สร้างเม็ดเงินการลงทุนที่ช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต่างๆ จำเป็นต้องคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นความท้าทายของการพัฒนาอีอีซี ให้อยู่เคียงข้างกับพื้นที่และชุมชนอย่างยั่งยืน
นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการสายงานนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งร่วมกำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อีอีซี ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าดำเนินการตามแผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 – 2564 ที่นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ได้รับทราบในหลักการร่างแผนสิ่งแวดล้อมในอีอีซี พ.ศ.2561 – 2564 ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2562 (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562)
ซึ่ง แผนสิ่งแวดล้อม ฯ ฉบับนี้ ถือเป็นกรอบแนวทางบริหารจัดการ ที่เน้นจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เตรียมความพร้อม รู้เท่าทัน การจัดการสิ่งแวดล้อม และรักษาทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต ของพื้นที่อีอีซี
ทั้งนี้ แนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี มี 4 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี
ให้ความสำคัญการลดมลพิษ เน้นบำบัด กำจัดของเสีย และควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยเร่งกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดในพื้นที่ การป้องกันและลดความเสี่ยงจากอุบัติภัยสารเคมี พัฒนาระบบประกันความเสี่ยงของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีอีซี
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมือง และชุมชนน่าอยู่
ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ป่าในเมือง เพิ่มพื้นที่ดูดซับมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart city) และเมืองการบินภาคตะวันออก ในรูปแบบที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวางผังใช้ประโยชน์ที่ดินและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง ให้รองรับคนทุกกลุ่ม
ส่งเสริมการผลิต บริการ และบริโภคที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม สนับสนุนเครือข่ายชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหมู่บ้าน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
เร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำธาร ทรัพยากรดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ บริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต ส่งเสริมเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำให้เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศ และลดการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในแต่ละจังหวัด
โดย 4 ยุทธศาสตร์ ดังกล่าว มีโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ (Flagship Project) รวม 14 โครงการ แบ่งเป็น
1.กลุ่มโครงการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เน้นจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นและที่สะสมอยู่ในพื้นที่ โดยเน้นจัดหา และเพิ่มประสิทธิภาพระบบให้มีศักยภาพมากขึ้น มีทั้งสิ้น 8 โครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย Cluster 2 จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่ อ.บางละมุง และอ.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี งบประมาณ 3,000 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี งบประมาณ 200 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากเอกชน โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย อ.ปลวกแดง จังหวัดระยอง งบประมาณ 960 ล้านบาท เป็นต้น
2.กลุ่มเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมและฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต มี 6 โครงการ อาทิ โครงการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด เขาชะเมา เขาวง จังหวัดระยอง งบประมาณ 100 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างการท่องเที่ยวทางทะเลเชิงอนุรักษ์อย่างเป็นระบบและยั่งยืนเพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซี พื้นที่ชายฝั่งทะเล อ.แกลง อ.เมือง และอ.บ้านฉาง งบประมาณ 128 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่อีอีซี จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา งบประมาณ 71.58 ล้านบาท เป็นต้น
การขับเคลื่อนแผนให้เกิดเป็นรูปธรรม อีอีซี จะผลักดันโครงการเร่งด่วนดังกล่าว เป็นโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ ภายใต้ยุทธศาสตร์และมาตรการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ จากงบประมาณแผ่นดิน งบกลาง งบบูรณาการอีอีซี การร่วมลงทุนของภาคเอกชนและแหล่งเงินทุนต่างๆ พร้อมจะสร้างระบบขับเคลื่อนตามแผนให้มีประสิทธิภาพ
โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและกำกับการดำเนินงานตามแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนตามแผน สร้างกลไกในการติดตามประเมินผล และรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะๆ โดยขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลการทำแผนสิ่งแวดล้อม ในระยะที่ 2ที่ได้รับงบบูรณาการอีอีซี ประมาณ 7 ล้านบาทดำเนินการ
เพื่อให้เป้าหมายของแผนสิ่งแวดล้อมเกิดการจัดการที่ดีในพื้นที่อีอีซี ประชาชนได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต อยู่ในสิ่งแวดล้อมเมืองที่ดีได้มาตรฐานสากล ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างสมดุลเป็นธรรม ให้การพัฒนาพื้นที่อีอีซี เคียงคู่ไปกับความต้องการของชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง