ดัชนีอุตฯ เม.ย. 64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46
สศอ.เผย MPIเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 91.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ชี้ เศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มดีขึ้นจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19โดยเฉพาะคู่ค้าหลักของไทย
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในเดือนเมษายน 2564 MPI อยู่ที่ระดับ 91.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดผลกระทบจากการระบาดรอบแรกของไวรัส โควิด-19 มากที่สุด จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้นสะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในระดับสูง
ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการผลิตในภาพรวมและกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นเช่นกัน
โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงถือได้ว่าเป็นกลจักรสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้
ส่วนตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.38 อัตราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.48 เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตรายหลาย หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เครื่องใช้ไฟฟ้า ในครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ75.61 จากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นจึงมีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เหล็ก ขยายตัวร้อยละ 29.2 ขยายตัวเกือบทุกรายการสินค้า
เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลงโดยจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศให้ดีขึ้นจึงสั่งปิดโรงงานเหล็กที่ผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับในช่วงนี้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกปรับตัวสูงขึ้น จากทั้งสองปัจจัยหลักข้างต้นจึงทำให้การผลิตเหล็กของไทยเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาเหล็กและความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน