NEW! EXIM BANK ยุค “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร”
สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ…ผู้มองเห็นโอกาสในวิกฤต! EXIM BANK “New Look!” สู่ความเป็น…ธนาคารเพื่อการพัฒนาฯ ในยุคของ “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” เอ็มดี.คนใหม่…ป้ายแดง จะสานฝันได้สำเร็จหรือไม่? AEC10NEWS มีคำตอบ…
ยุคสมัยเปลี่ยน ความคิดและการบริหารจัดการ…จำต้องเปลี่ยน!
แต่หาก “หัวขบวน” หรือคนเป็น “ผู้นำองค์กรสูงสุด” ยังคิดแบบเก่าๆ การเปลี่ยนแปลงให้ล้อไปกับยุคสมัย…ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย
สำหรับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ EXIM BANK แล้ว รอยต่อระหว่าง “2 เอ็มดี.” จาก…นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา ที่เกษียณอายุฯ ไปเมื่อต้นปี 2564 มาเป็น…ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา
ถือเป็นการปรับเปลี่ยนระดับ “ส่งไม้ต่อ” เพื่อเดินไปข้างหน้า และยัง “ล้อไปกับยุคสมัย” ได้อย่างลงตัวและมีนัยสำคัญอย่างมาก…
ความโชคดี ขององค์กรและบุคลากรในองค์กรแห่งนี้ (แน่นอน! สิ่งนี้…ย่อมถูกส่งต่อไปยังลูกค้าด้วย) ล้วนมาจากคนทั้ง 2 ที่มียีนส์ระดับใกล้เคียงกันมากๆ
โชคดีแรก คือ “กัดลิ้น…กลืนเลือด” เพราะการยอมให้มีผลการดำเนินงาน “ติดลบ” ในปี 2563 แลกกับการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9)
นั่นทำให้การดำเนินงานในยุคสมัยต่อมา…โดยเฉพาะการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ ทำได้ง่ายและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น!
โชคดีต่อมา คือ “สร้างยุ้งฉางทางการเงิน” มีการจัดหาและเตรียมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ระยะยาว สำหรับปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าทุกระดับ ในระยะสั้นๆ กับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงนัก ท่ามกลางวิกฤตการณ์ใดๆ ก็ตาม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงให้กับองค์กร
เป็นอีกเรื่องที่ เอ็มดี.คนเก่า…ได้รับการยกย่อง!
อีกความโชคดี คือ “ได้ “ลูกหม้อ” เป็น เอ็มดี.คนใหม่” ไม่เพียง…สานต่อและเดินหน้าในภารกิจเดิม แต่ยังเพิ่มเติมด้วยภารกิจใหม่ๆ กับเป้าหมายการทำงานใหม่…
สู่ความเป็น…“ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย”
อดีตรอง เอ็มดี. EXIM BANK (2559 – 2561) ดีกรี…วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (อุตสาหการ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, BMA. Birmingham University UK. และ “ด๊อกเตอร์” เศรษฐศาสตร์ University of Strathclyde UK. อย่าง…ดร.รักษ์
ที่นั่งวันนี้…กลับมานั่งเก้าอี้ “เอ็มดี. EXIM BANK คนใหม่” อาจสร้างปรากฏการณ์ บนมาตรวัด “มาตรฐานใหม่” ที่แตกต่างไปจากเดิม!
เริ่มจาก…วิสัยทัศน์ วิธีคิด การปฏิบัติ การโน้มน้าวบุคลากรในองค์กรเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายใหม่ๆ แม้กระทั่ง (ยืม) ศัพท์เฉพาะ-บัญญัติคำนิยาม เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารและความเข้าใจที่ตรงกัน
ฉีดวัคซีน (พักหนี้)…เติมเกล็ดเลือด (ให้สินเชื่อใหม่)…ไอซียู (ภาวะเสี่ยงก่อนปิดกิจการ) คำเหล่านี้…ได้ถูกหยิบยืมมาจากองค์กรเดิม (หมอหนี้ บสย.) ที่ ดร.รักษ์ เคยนั่งบริหารงาน เป้าหมาย…เพื่อการสื่อสารที่ง่ายและชัดเจนต่อการสร้างความเข้าใจ ของทั้งคนในและนอกองค์กร
จากข้อจำกัดเดิมๆ นับแต่…เริ่มก่อร่างสร้างตัวตนของ EXIM BANK ในอดีต ที่เน้นหนักการให้สินเชื่อ “โฟกัส” ไปยัง…กลุ่มเจ้าตัว(ธุรกิจขนาดใหญ่) โดยเฉพาะ กลุ่ม Infrastructure (โครงการก่อสร้างถนน ทางด่วน สนามบิน ฯลฯ) และ Energy (เขื่อน, โรงไฟฟ้า ฯลฯ)
วันนี้…ขยายฐานมาเป็น กลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น เช่น กลุ่มสุขภาพ กลุ่มสีเขียว (สิ่งแวดล้อม) เป็นต้น และ ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้…ก็เป็นลูกค้า SME ระดับ Medium Size ที่จัดว่ามีภูมิต้านทานที่ดีระดับหนึ่ง
ดร.รักษ์ ยอมรับว่า…การจะใช้ “มาตรวัด” เดียวกัน เพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อระหว่าง…กลุ่มเจ้าสัว กับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในภาวะปกติ…ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ
ทว่า ความโชคดีในความโชคร้าย! หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น โลกที่มองเห็นด้านบวก อาจปรับเปลี่ยน“วิกฤตเป็นโอกาส” ได้ไม่ยาก…
เช่นกัน ลูกค้าของ EXIM BANK นอกจาก 2 กลุ่ม (เจ้าสัว, SMEm) ข้างต้นแล้ว ยังมี…กลุ่มผู้ประกอบการ SME ขนาดย่อม (เล็ก)หรือ SMEs อีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากสินเชื่อของภาครัฐ และสินเชื่อของ EXIM BANK ไม่ต่างกัน…ขึ้นอยู่กับความต้องการนั้นๆ
ท่ามกลางธุรกิจจำนวนมากที่ประสบปัญหาในสถานการณ์โควิดฯ แต่สำหรับ ภาคการส่งออกของไทย แล้ว กลับเติบโตสวนกระแส ดร.รักษ์ เชื่อว่า…อัตราการเติบโตเฉลี่ยของปีนี้ น่าจะอยู่ในระดับ “2 หลัก” หรือ “10%++”
ซึ่งไม่เพียง “ส่งผลบวก” ต่อ ผู้ส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศ หากยังดีต่อแผนการดำเนินงานของ EXIM BANK ในวันนี้และวันข้างหน้า…
การนำ (ยืม) “ศัพท์เฉพาะ” มาใช้ นั่นหมายถึง…การนำระบบและวิธีการดำเนินการใหม่ๆ มาใช้อีกด้วย
มีการ ปรับ Mindset (ความคิด/ทัศนคติ) ในการทำงานใหม่ และนำระบบประเมินศักยภาพของลูกค้าสินเชื่อ แยกกลุ่มให้ชัดระหว่าง…รายใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยใช้เทคโนโลยีแทนที่คน เพื่อตัดความรู้สึก “ชอบ-ไม่ชอบ” ออกไป
ทำให้การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ…ทำได้ง่าย ตรงกลุ่ม และเร็วขึ้น!
“ในกลุ่มผู้ประกอบการ SME กว่า 3 ล้านราย เป็นผู้ส่งออก 25,000 ราย แต่ในกลุ่มนี้เป็นลูกค้าของ EXIM BANK ไม่ถึง 5,000 ราย เรามีมาร์เก็ตแชร์ราว 20% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศ จำเป็นจะต้องขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น จำเป็นจะต้องปรับ Mindset ทั้งระบบ เพราะยังมีลูกค้าในเครือข่ายของลูกค้าผู้ส่งออก (Supply Chain) อีกราว 1 แสนราย รอให้เราเข้าไปดูแล”
ดร.รักษ์ อธิบายว่า…ท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ ทำให้ภาครัฐจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับให้ผู้ประกอบการกู้ยืม ทั้งเพื่อเสริมสภาพคล่อง และ/หรือ ขยายการดำเนินงาน รวมถึงปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกับการแข่งขันในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็น…การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์การผลิตในโรงงานให้ทันสมัย การเปลี่ยนซอฟท์แวร์/เทคโนโลยีการผลิต (Automation) รวมถึงดูแลด้านสุขอนามัยก่อนเข้าโรงงาน ฯลฯ
“หากเป็นภาวะปกติ ไม่มีทางที่คนในกลุ่ม SME ระดับกลางหรือระดับเล็ก จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 2% ที่เคยเป็นอัตราของกลุ่มเจ้าสัว แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิดฯ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะ SME ระดับกลาง ที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท และต้องการสินเชื่อในระดับเดียวกัน นี่จึงเป็นโอกาสที่คนกลุ่มนี้…จะปรับเปลี่ยนตัวเอง”
เอ็มดี. EXIM BANK ย้ำว่า วลี “อัตราดอกเบี้ยลอยตัว” ที่เคยสร้างความสะพรึง! ให้กับลูกค้าฯ วันนี้…ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ มาเป็นคำว่า “All In” (ตลอดเทอมของการกู้เงิน) พร้อมยกตัวอย่าง…
“เดิมทีเราใช้คำว่า…อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 2.75% หลังจากนั้น จะใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งทำให้คนฟังรู้สึกกังวลใจว่าหลังจากปีที่ 3 ไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะไหลไปอยู่ระดับใด? จึงปรับมาใช้คำว่า All In ที่ 4.22% พร้อมอธิบายว่า…ตลอดระยะเวลากู้ 7 ปี เฉลี่ยดอกเบี้ยแต่ละปีไม่เกิน 4.22% ไม่เพียงสื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจและสบายใจ ยังทำให้พวกเขาสามารถวางแผนทางการเงินได้อีกด้วย”
ดร.รักษ์ ยืนยันว่า…ไม่ว่าลูกค้าจะขอสินเชื่อ 5 ล้านบาท หรือ 10,000 ล้านบาท พวกเขาต่างก็มีความเป็นคน และมีคุณค่าในตัวเองต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเหมือนกัน
EXIM BANK จึงแบ่ง แม่น้ำออกเป็น 2 สาย ใช้เครื่องมือพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่แตกต่างกันไป สำหรับ…กลุ่มผู้ประกอบการ SME และกลุ่มเจ้าสัว
โดยมี Software “ที่รัก” เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินความพร้อม อ้างอิง Credit Scoring และประวัติการดำเนินธุรกิจมาใช้พิจารณา และจัดวางตำแหน่งเพื่อให้สินเชื่อที่แตกต่างกันไป ตามขนาดธุรกิจและคะแนนที่ Credit Scoring ประเมินไว้ ทำให้การพิจารณาสินเชื่อทำได้ง่ายและเร็วขึ้น
สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 1.35 แสนล้านบาท โดย EXIM BANK ถูกมอบหมายให้ทำตามเป้าที่ 1.38 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท) แต่ส่วนของ ดร.รักษ์ แล้ว เขากลับตั้งเป้าไว้เยอะกว่านั้น
“สำหรับตัวผม ตั้งเป้ายอดคงค้างเงินให้สินเชื่อไว้ที่ 1.45 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาทจากปัจจุบัน ส่วนตัวคิดว่าอยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการได้” ดร.รักษ์ ย้ำและว่า…
ที่คิดเช่นนี้ นั่นเพราะเหตุผลข้างต้น! กล่าวคือ ยังมีฐานลูกค้า Supply Chain อีก 1 แสนราย รอให้ EXIM BANK ได้เข้าไปพูดคุยเพื่อปล่อยสินเชื่อ และ EXIM BANK มีแผนจะปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการส่วนนี้ ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมีภารกิจ…ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักลงทุนไทย ได้เดินทางไปลงทุนหรือขยายกิจการไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (New Frontiers) ทั้งในและนอกอาเซียน
รองรับการก้าวไปสู่ความเป็น…ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ของ EXIM BANK ในอนาคตอันใกล้…
“ในฐานะ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” เราจึงต้องเข้าไปช่วยเหลือและดูแลผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เพราะหากเราไม่เข้าไปร่วมกับพวกเขา คงยากที่ดีลเหล่านี้จะเกิดขึ้น รวมถึงจะต้องทำการแผ้วถางสิ่งกีดขวางอันเป็นอุปสรรคต่างๆ อีกด้วย เพื่อที่แบงก์พาณิชย์อื่นๆ จะได้เข้ามารับงานต่อจากเรา เมื่อการลงทุนผ่านไป 2-3 ปี และภาพธุรกิจเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นแล้ว” ดร.รักษ์ ระบุ
ทั้งหมด คือ บางส่วนของการสัมภาษณ์พิเศษ ที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ได้รับเกียรติจาก ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กก.ผจก. EXIM BANK กับภารกิจเบื้องหน้าภายใต้การนำของเขา…
สิ่งที่อยากให้จับตา! จากนี้…นั่นคือ สินเชื่อตัวใหม่ ที่ EXIM BANK เตรียม “จัดใหญ่” ให้กับ Supply Chain ราว 1 แสนราย ที่เชื่อมโยงมาจากฐานลูกค้ากลุ่มผู้ส่งออก…
ที่สุดจะมีรายละเอียดอย่างไร? และสินเชื่อตัวใหม่ที่เตรียมจะ Launching ในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้…มีหน้าตาและเงื่อนไขอย่างไร? ครอบคลุมลูกค้าในคุณสมบัติใดบ้าง?
อีกไม่นาน…จะได้รู้กัน!!!.