ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ “ผมไม่ได้โลกสวย”
ผมสนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 13 ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ ลำดับแรกผมไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่สนใจเรื่องบ้านเมือง เพราะตอนเปิดเทอม ผมอยู่ที่อังกฤษ แต่ตอนปิดเทอม ผมจะกลับมาไทย ก็เลยมีการเปรียบเทียบ
อีกหนึ่งนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกล “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งภายหลังลาออกมาเดินเกมการเมืองนอกสภา ทว่าเปี่ยมล้นด้วยพลังเหลือหลาย
พริษฐ์เกิดในครอบครัวที่มีชื่อเสียง มารดาของเขาคือ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อลิสา วัชรสินธุ (สกุลเดิม เวชชาชีวะ) และเป็นพี่สาวคนโตของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พริษฐ์มีศักดิ์เป็นหลานของอภิสิทธิ์ และสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พริษฐ์จบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่ออายุ 9 ปี เขาเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษที่โรงเรียนเตรียมมัธยมศึกษาและวิทยาลัยอีตัน เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยมเหรียญทอง (อันดับ 1 ของรุ่น) จากวิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ผู้เป็นน้าของเขา
หลังจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2561 เขาเลือกทำงานที่อังกฤษ และไม่นานจึงเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นอาชีพการเมือง
กระนั่น ก่อนเล่นการเมืองเต็มตัว “ไอติม” ตัดสินใจ สมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์ เสริมประสบการณ์ชีวิตรับใช้ชาติ
ไอติม เล่าสาเหตุผลของการสมัครเป็นทหารเกณฑ์ของเขาว่า เพื่อเคลียร์เรื่องต่างๆให้จบสิ้น เนื่องจากเขาเกิดในครอบครัวคนมีชื่อเสียง โดยเห็นว่าการสมัครเป็นทหารนั้น จะทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัด เพราะแม้จับได้ใบดำ ก็จะเกิดข้อครหาว่า ถูกต้องความกระบวนการ หรือมีความโปร่งใส่หรือไม่
“ผมเรียนที่อังกฤษไม่ได้เรียน รด.ถ้าผมจะมาทำงานในประเทศไทย ผมก็ต้องไปเป็นทหารก่อน ซึ่งผมเลือกสมัคร เพราะมันมีความชัดเจนมากกว่า บางทีการจับไปแดงไปดำ เรื่องต่างๆจะไม่ถูกเคลียร์ แต่การสมัครเป็นทหารของผม ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับระบบทหารเกณฑ์นะ”
ไอติม เล่าย้อนไปสมัยศึกษาที่ออกซ์ฟอร์ดเมื่อ พ.ศ. 2557 เขาได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และประธานชมรมโต้วาทีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนแรกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
กระนั้นเขาก็บอกว่า ตัวเองเป็นเด็กดื้อ ไม่ทำตามความต้องการของพ่อแม่เสมอไป
“ผมค่อนข้างเป็นคนดื้อ มีความเป็นเสรีนิยมสูง ตอนแรกที่จะเลือกเรียน มีให้เลือกคือเศรษฐศาสตร์การเมืองกับหมอ ซึ่งพ่อผมอยากให้เป็นหมอ แต่ผมก็เลือกเรียนปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ทั้งที่พ่อแม่ผม รวมถึงคุณตาคุณยายก็เป็นหมอด้วยกันทั้งหมด”
พริษฐ์ วัชรสินธุ ในวัย 28 ปี พยายามเล่าให้เห็นว่า เขาไม่ได้เกิดในครอบครัวนักการเมือง แต่เกิดให้ครอบครัวของหมอ เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าตระกูลของเขามีแต่นักการเมืองก็ตาม
สำหรับความสัมพันธ์กับอภิสิทธิ์ รวมถึงสุรนันทน์ เขาบอกว่า 1 ปี จะมีโอกาสได้เจอกันไม่กี่ครั้ง
“ผมจะเจอคุณอภิสิทธิ์และคุณสุรนันทน์แค่ปีละครั้ง คือวันรวมญาติ ซึ่งมีประมาณ 80-100 คน แต่เราก็ไม่ได้คุยเรื่องการเมือง เพราะเกรงใจผู้ใหญ่”
แม้จะออกตัวว่าการเมืองไม่ได้อยู่ในสายเลือด แต่นักการเมืองหนุ่ม เล่าว่า ความสนใจการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่เขาอายุ 13 ปี ซึ่งเกิดจากการได้เห็นโลกที่แตกต่างระหว่างประเทศไทยแผ่นดินเกิด กับอังกฤษแผ่นดินที่เขาไปอาศัยไขว่คว้าหาความรู้
“คือผมสนใจการเมืองตั้งแต่อายุ 13 ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ ลำดับแรกผมไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง แต่สนใจเรื่องบ้านเมือง เพราะตอนเปิดเทอม ผมอยู่ที่อังกฤษ แต่ตอนปิดเทอม ผมจะกลับมาไทย ก็เลยมีการเปรียบเทียบ สิ่งแรกที่เห็นคือ แม้จะเป็นระบบการปกครองประชาธิปไตยเหมือนกัน คือมีประชาธิปไตย มีรัฐสภา และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเหมือนกัน แต่ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมระหว่างไทยกับอังกฤษต่างกันมาก
เช่นว่าที่อังกฤษ เมื่อเขาเจ็บป่วยก็จะไปโรงพยาบาลใกล้บ้านได้เสมอ แต่ต่างจากบ้านเรา เช่น คนเมือง เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลดีๆ เพราะคุณภาพของโรงพยาบาลของเรานั้นไม่เท่าเทียมกัน นั่นคือสิ่งที่จุดประกายว่า ผมอยากกลับมาพัฒนาบ้านเมือง”
ไอติม ได้แสดงวิสัยทัศน์ทางการเมืองขอตัวเองว่า อุดมการณ์ต้องนำทุกอย่างเสมอ
“เสน่ห์ของการเมืองคืออยู่ที่ว่าคุณจะทำประโยชน์ให้ประชาชนมากน้อยเพียงใด เพราะประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินหรือเป็นเจ้านายของคุณ หากคุณทำงานไม่ดี เขาก็จะสั่งให้คุณหยุด ถ้าคุณทำประโยชน์ได้ดี เขาก็จะสั่งให้คุณทำต่อ
ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนโลกสวย แต่คิดว่าถ้าเข้ามาทำงานการเมืองโดยไม่มีอุดมการณ์ ก็คงไม่เข้ามา เพราะการเมืองเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ ผมว่านักการเมืองมีหน้าที่นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดต่อประเทศ ส่วนเขาจะเลือกหรือไม่เลือกเรา ก็เป็นสิทธิของประชาชนและเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ“
ในวันที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ “ไอติม” สารภาพความรู้สึกใจหาย เพราะเขามีความผูกพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์มากพอสมควร
ในวัย 16 ปี ไอติม สมัครเข้าฝึกงานกับพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งจบมาก็สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และลง ส.ส.ครั้งแรก ก็ในนามพรรคประชาธิปัตย์
“ยอมรับว่าอุดมการณ์ของตัวเองและของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันนั้นต่างกัน จึงไม่ควรจะอยู่ในเรือลำเดียวกันอีกต่อไป การลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ใจหายเหมือนกัน มีความผูกพันกับพรรคนี้มาช้านาน แต่เข้าใจดี พรรคต้องเข้าร่วมรัฐบาล และเราก็ต้องแสดงจุดยืนในการไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล”
ปัจจุบัน ไอติม เคลื่อนไหวในนามการเมืองภาคประชาชน ยังไม่ปลงใจเข้าสังกัดพรรคการเมืองใด
การเคลื่อนไหวของไอติม ล่าสุดได้ออกแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อ #รื้อระบอบประยุทธ์ โดยมี 3 ข้อเสนอ
1. ยุบ “วุฒิสภา” ให้เป็นสภาเดี่ยว
2. รีเซ็ต ที่มาของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” และ “องค์กรอิสระ”
3. ยกเลิกการบังคับใช้ “ยุทธศาสตร์ชาติ”
กระนั่นเขาก็ถูกมองว่า ไม่แน่อนาคตอาจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “พรรคก้าวไกล” เพราะแนวคิดทางการเมืองของเขากับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” รวมถึงพรรคก้าวไกล ไม่ต่างกันนัก
เขายังชื่นชมว่าพรรคก้าวไกล กล้านำเสนอสิ่งใหม่ที่มีความก้าวหน้า และเจ้าตัวก็ยอมรับว่า มีการพูดคุยกับพรรคก้าวไกลบ้างแล้ว
“ก็ยอมรับว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพรรคก้าวไกลจริง มีการทำกิจกรรมร่วมกันจริง แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จะกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว สิ่งที่ผมและพรรคก้าว อยากเห็นคือระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่ประชาชนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน ไม่มี ส.ว.250 คนมาเลือกด้วย”
สำหรับบทสูจน์ของ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ในอนาคตคือ การได้เป็น ส.ส.สมัยแรก อันจะเป็นใบเบิกทางสำคัญ
ว่าเขาจะเข้าไปต่อยอดอุดมการณ์ได้หรือไม่