ยูเอ็นประชุมลดความรุนแรงในเมียนมา
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันในประเด็นความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งเกิดจากการปราบปรามของกองทัพที่มีต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่
ส่งผลให้ชาวโรฮีนจามากกว่า 18,500 คนหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าบังคลาเทศ
ยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจาก 15 ประเทศสมาชิกหลังจากมีการประชุมแบบปิด แต่แมทธิว ไรครอฟท์ ทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติกล่าวว่า มีข้อเรียกร้องจากสมาชิกให้ลดระดับความรุนแรงลง
“ พวกเราทั้งหมดขอประณามความรุนแรง เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลดระดับความรุนแรงลง ” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว
การปะทะกันเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. หลังจากกลุ่มติดอาวุธของชาวมุสลิมโรฮีนจาได้บุกเข้าจู่โจมสถานีตำรวจในรัฐยะไข่ และเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 110 ราย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ 11 นาย และเป็นแรงกดดันให้ชาวโรฮีนจาหลบหนีจากเหตุรุนแรงข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศหลายพันคน แม้ทางบังคลาเทศจะพยายามหยุดยั้งก็ตาม
โดยกองทัพของเมียนมาได้ทำการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย แต่ประชาชนในพื้นที่รายงานว่า กองกำลังของกองทัพบุกเข้าเผาบ้านเรือนในหมู่บ้านของชาวมุสลิมโรฮีนจา
ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า ทางยูเอ็นมีแผนจะทำอะไรต่อไป แต่คาดการณ์วา จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นนี้ในการประชุมสุดยอดผู้นำทั่วโลกในการประชุมประจำปีเดือนก.ย.นี้
นายไรครอฟท์กล่าวว่า ทางยูเอ็นยังคงให้การสนับสนุนนางอองซาน ซูจี ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและเป็นสัญลักษณ์ที่โด่งดังของประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐ และเป็นผู้นำคณะรัฐบาลในย่างกุ้ง
“ สมาชิกของเราเป็นพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนเธอ เราติดตามกระบวนการทำงานของเธอด้วยความชื่นชมมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ” เขากล่าว
“ เราจับตามองเธอและมุ่งหวังให้เธอบริหารจัดการและพยายามประนีประนอม ลดระดับความรุนแรงลงเพื่อแก้ไขความขัดแย้งสำหรับประชาชนทุกคนในเมียนมา ”
ทั้งนี้ นายไรครอฟท์ยังชี้ให้เห็นถึงความคิดเห็นจากนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็นที่เรียกร้องให้ทางกองทัพเมียนมายุติวิธีการปราบปรามอย่างเฉียบขาดกับพลเมือง และมีท่าทีที่ชัดเจนกับชาวมุสลิมโรฮีนจาเพื่อเป็นทางออกจากปัญหาความรุนแรงที่มีมายาวนาน.