SSI จี้ ปรับโครงสร้างอุตฯเหล็ก แก้ปัญหาราคาแพง
SSI ชี้ โครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กมีปัญหาต้องปรับแก้ทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาเหล็กราคาแพง เผย สมาคมผู้ประกอบการเหล็ก เล็งถกแผนอุตฯเหล็ก 4.0 มิ.ย.นี้
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ กล่าวถึงสถานการณ์เหล็กในประเทศไทย ว่า ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ กำลังมีปัญหาในเรื่องของกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้ และมีห่วงโซ่อุปทานที่ไม่สมดุล
เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศส่วนใหญ่ เป็นการผลิตเหล็กขั้นปลาย ไม่มีการลงทุนเหล็กขั้นต้นและขั้นกลาง ประกอบกับเศษเหล็กในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าเศษเหล็กรวมทั้งเหล็กแท่งยาว(billet )เพื่อรีดเป็นเหล็กเส้น ดังนั้นราคาเหล็กในประเทศจึงต้องอิงกับราคาตลาดโลก
ปัจจุบันราคาเหล็กใน ตลาดโลกได้มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเศษเหล็กได้ปรับราคาขึ้น จากเดิม 300เหรียญสหรัฐต่อตันมาอยู่ที่ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน หลังจากบราซิลและออสเตรเลีย ไม่สามารถขุดสินแร่เหล็กได้ตามแผน และประเทศจีนได้มีนโยบายลดกำลังการผลิต โดยปิดโรงงานผลิตเหล็กที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยกเลิกมาตรการทางภาษี สนับสนุนการส่งออกสินค้าเหล็กบางรายการ รวมทั้ง สหรัฐมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าราคาเหล็กจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีก 1-2ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก เตรียม หารือกับ กระทรวงอุตสากรรมเพื่อขอปรับปรุงแผนนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อสร้างความสมดุลในห่วงโซ่อุปทานเหล็ก เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเหล็ก เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์
สำหรับปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความต้องการใช้เหล็กทุกประเภทประมาณ 16.5 ล้านตัน โดยนำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 10.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 63% และผลิตในประเทศ 6.1 ล้านตัน หรือ 37% โดยมีการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กมากกว่าครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ราคาเหล็กต้องปรับราคาตามตลาดโลก