ซัมซุงเปิดตัว Bixby ใน 200 ประเทศ
Bixby หรือระบบผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงจะเปิดตัวใน 200 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
ระบบ Bixby ของซัมซุง ถือว่าเป็นระบบผู้ช่วยที่สั่งงานด้วยเสียงซึ่งเทียบเท่ากับ Siri ของแอปเปิล และ Assistant ของกูเกิล โดยได้มีการทดลองติดตั้งระบบ Bixby บนโทรศัพท์มือถือของซัมซุงที่ดำเนินการบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
โดย Bixby จะให้บริการแค่เพียง 2 ภาษาเท่านั้น คือภาษาอังกฤษ (US) และภาษาเกาหลี
ก่อนหน้านี้ Bixby มีกำหนดเปิดตัวตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปซัมซุงไม่ได้ให้เหตุผลใด ๆ เกี่ยวกับการเลื่อนเปิดตัวระบบผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียง แต่ในการทดสอบใช้งานรุ่นต้นแบบในวงแคบ ซึ่งทางบีบีซีได้มีส่วนร่วมทดสอบได้ กลับพบว่า Bixby นั้นยังไม่สามารถเข้าใจคำสั่งต่าง ๆ ด้วยเสียงได้
นอกจากนี้ Galaxy Note 8 หรือสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดของซัมซุง ก็พร้อมเปิดตัวในวันที่ 23 ส.ค.
นาย Ian Fogg นักวิเคราะห์ของ IHS Markis ระบุว่า สิ่งที่ทำให้ระบบ Bixby แตกต่างจากผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงอื่น ๆ คือการที่ Bixby ถูกหลอมรวมให้เป็นส่วนหนึ่งกับฟังก์ชั่นการทำงานภายในเครื่องซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในเครื่องของซัมซุงเท่านั้น
เขาระบุว่า “ซัมซุงมักจะสร้างความแตกต่างให้กับโทรศัพท์ของทางบริษัท โดยการเพิ่มฟีเจอร์หรือลูกเล่นต่าง ๆ ของทางซัมซุงเองในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์”
โดยการเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนอุปกณ์ให้เหมาะกับสมาร์ทโฟนของซัมซุงเอง อย่าง เช่นหน้าจอโค้ง ปากกาสไตลัส อุปกรณ์เสริม VR และกล้องถ่ายภาพ
นาย Fogg เสริมว่า ในอนาคต Bixby อาจติดตั้งอยู่ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของซัมซุงที่ไม่ได้อยู่บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ก็เป็นไปได้
เขากล่าวถึงการแข่งขันด้านระบบผู้ช่วยดิจิทัลของบริษัทยักษ์ใหญ่แต่ละแห่งว่า “หลายคนเชื่อว่าจะมีเพียงแค่ระบบผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงเพียงระบบเดียวที่จะถูกใช้อย่างแพร่หลาย”
“แต่ในชีวิตจริง คนเราไม่สามารถพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเพียงรายเดียวในทุกเรื่องได้ อาจเป็นไปได้ว่าระบบของแต่ละบริษัทจะมีความสามารถในสิ่งที่แตกต่างกันไป”
“สำหรับผู้ใช้แต่ละคนการเลือกใช้ระบบผู้ช่วยก็เป็นเรื่องง่ายเหมือนกับการเรียกใช้ Alexa หรือ Cortana หรือ Siri ถือว่าไม่มีอุปสรรคใด ๆ ในการเลือกระบบผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียงเลย”
อย่างไรก็ตาม นาย Fogg ได้เสริมว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมันเชื่อถือได้เท่านั้น
“เพื่อที่จะทำให้ระบบสั่งการด้วยเสียงบรรลุจุดประสงค์ มันจะต้องเข้าใจในสิ่งที่ผู้ใช้สั่งการผ่านการพูดอย่างเชื่อถือได้ ถ้าทำไม่ได้ก็เท่ากับว่าไม่มีประโยชน์อะไร อย่าง Bixby ก็คงเป็นตัวอย่างได้”.