ฝ่าดง พายุ!! ประมูล บงกช-เอราวัณ
ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประเมินสถานการณ์การจัดหาก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งในประเทศทั้งบนบกและในทะเลมีอัตราเฉลี่ยรวมประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแบ่งเป็นการจัดหาจากแหล่งบนบก เฉลี่ยประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากแหล่งในทะเล จำนวนประมาณ 3, 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ขณะที่ปริมาณการใช้ในประเทศอยู่ที่เฉลี่ย 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน….
ในปี 2565-2566 แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ-บงกช จะหมดอายุสัมปทาน จะทำให้ปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่ง ลดลงจากเดิมที่จัดหาได้ประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในกรณีดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศลดน้อยลง หากประเทศไทยไม่มีการลงทุนและสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มจะทำให้มีก๊าซใช้ได้อีกประมาณ 5 ปี
เพราะเหตุนี้ การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช จึงถูกกำหนดขึ้น ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) หรือ “ระบบ PSC” มาใช้แทนระบบสัญญาสัมปทานเดิมที่ใช้มานานกว่า 40 ปี โดยที่ภาครัฐจะมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงาน งบลงทุน ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกับผู้ได้รับสัญญา
ส่วนผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้รับจากระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ภาครัฐจะได้รับค่าภาคหลวงปิโตรเลียมในอัตรา 10% ของผลผลิตรวม และได้รับส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่า 50% หลังหักค่าใช้จ่าย และยังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีก 20% ของกำไรสุทธิ
โดยกำหนดเปิดให้เอกชนผู้ยื่นประมูล มายื่นข้อเสนอในวันที่ 25 กันยายน 2561 ใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล จากเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ เป็นเวลา2 เดือน จากนั้นจะนำผลเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ คาดจะประกาศผลผู้ชนะการประมูลเดือนธันวาคม 2561 และจะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2562
แต่การประมูลในครั้งนี้กลับไม่ราบรื่น เนื่องจากมีผู้ออกมาคัดค้าน ล่าสุด กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ (คปป.) และกลุ่มกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) ในนามกลุ่ม “สภาพลังงานเพื่อประชาชน” นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล, ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, นายวีระ สมความคิด, นายทศพล แก้วทิมา, พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และแนวร่วมพลังงานอีกหลายกลุ่ม ได้รวมตัวกันคัดค้านทีโออาร์ หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างที่จะใช้ในการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ
“เดิมรัฐบาลแถลงว่า จะทำการประมูลในเดือน พ.ย.ปีนี้ โดยทีโออาร์ เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ปิโตรเลียมที่ได้ให้เอกชนเป็นผู้นำไปขาย และมีระยะสัญญาใหม่ 36 ปี แต่ปรากฏว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน กำลังเร่งกำหนดการรับซองประมูล ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดถึง 2 เดือน และจะมีการเปิดซองประมูลในวันที่ 25 ก.ย.นี้เลย สภาพลังงานฯ จึงตั้งข้อสงสัยว่า ที่เร่งประมูลเพราะเรื่องผลประโยชน์หรือไม่”
นพ.ระวี ได้กล่าวไว้พร้อมกับเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ชะลอเวลาในการประมูลออกไป และย้ำว่า หากนายกฯ ยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง จะเดินทางไปยื่นหนังสืออีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 24 ก.ย.2561 ก่อนหน้าวันประมูล 1 วัน และอาจจะมีการยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พิจารณา หรืออาจจะมีการวิ่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการวิ่งเพื่อปฏิรูปพลังงานครั้งแรกของโลก
แม้ว่า “กลุ่มสภาพลังงานเพื่อประชาชน” จะเดินหน้าคัดค้านในทุกแนวทางที่กระทำได้ แต่….
แต่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ยังยืนยันเดินหน้าเปิดประมูลตามกำหนดเดิม และจะใช้รูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยจะใช้ระยะเวลาในการคัดเลือก 2 เดือน จึงจะนำผลเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะการประมูลเดือนธันวาคม 2561 และจะมีการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2562
และย้ำว่า พร้อมชี้แจงและเปิดเผยเหตุผลการคัดเลือก ทุกอย่างไปตามมาตรฐานสากลและดำเนินการด้วยความโปร่งใส และพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกคน เพียงแค่นัดเวลามา ก็พร้อมที่จะหารือกับทุกคนอย่างเปิดกว้างที่สุด
จากนี้คงต้องติดตามทุกเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะกลุ่มเครือข่ายประชาชน ที่ออกมาคัดค้าน ล้วนแต่เป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ธรรมดา…