รัฐผุด 2 ม.ช่วยเหยื่อโควิดฯ – กู้ “1 หมื่น” ดบ.ถูก 3 ปี
ครม.อนุมัติหมื่นล้าน อุ้มหนี้เสีย “กึ่งหนึ่ง” หากเกิดขึ้นกับโครงการใหม่ “สินเชื่อสู้ภัย – พักหนี้แบงก์เฉพาะกิจ” ที่ออมสินและธอส.ควักหนุน 2 หมื่นล้าน หวังบรรเทาเหยื่อโควิด-19 จัดให้กู้รายละหมื่น ดบ.แค่ 0.35% ต่อเดือน อายุ 3 ปี ปลอดหนี้ 6 เดือนแรก ด้าน “อาคม” จี้ Non-Bank ต้องร่วมมือช่วยลูกหนี้เป็นการด่วน!
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2564 เห็นชอบมาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด–19 โดยอนุมัติวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร ที่ได้ผลกระทบจากโควิด–19 โดยต้องเป็น ผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป และต้องไม่เป็นผู้ที่มีรายได้จากภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 คาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ประมาณ 1 ล้านคน
อีกทั้ง ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน แห่งละ 10,000 ล้านบาท รวม 20,000 ล้านบาท เพื่อให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน พร้อมปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม. รับทราบการขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในส่วนของเงินต้น จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 ตามความสมัครใจ เพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ไปใช้เสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงก่อน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ ออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนภายใต้โครงการเราชนะ จำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (สำหรับเดือน ม.ค. – ก.พ. 64) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 33.2 ล้านคน และมีมูลค่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 203,295 ล้านบาท และ มาตรการ ม.33 เรารักกัน รวมทั้ง มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 64 เป็นต้น
รวมทั้ง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ซึ่งได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นต้น
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า 2 มาตรการด้านการเงินช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อลดทอนผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
1. มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำผู้ประกอบอาชีพอิสระผู้ประกอบการรายย่อยรวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย
และ 2. มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินไปและพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อยเพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ยังขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น Non-bank เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก ทั้งนี้ อาจให้ความสำคัญกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปน้อยในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่…
1) พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้
2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย
4) มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
5) การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
และ 6) การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“กระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อดูแลและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ได้คลี่คลายลงในระยะต่อไป” นายอาคม ระบุ
อนึ่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่…
o ธนาคารออมสิน โทร. 1115
o ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โทร. 02-555-0555
o ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โทร. 0-2645-9000
o ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D BANK) โทร. 1357
o ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) โทร. 0-2617-2111
o ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) โทร. 1302
o บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โทร. 0-2890-9999.