“บีไอจี” ส่งออกซิเจนจากไทยช่วยอินเดีย
บีไอจี ส่ง ออกซิเจนร่วมกู้วิกฤติโควิด-19 ในอินเดีย พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนทางการแพทย์ เดินหน้า รีสตาร์ทโรงแยกอากาศ 1 ที่นิคมฯมาบตาพุด ระยอง เพิ่มกำลังการผลิต 30 % เตรียมพร้อมรองรับความต้องการเพิ่ม มั่นใจไทยมีออกซิเจนเพียงพอ
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี : BIG) เผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ BIG และบริษัท แอร์โปรดักส์ แอนด์ เคมิคัลส์ อิงค์ (แอร์โปรดักส์ : Air Products) ได้ประสานไปยังกองทัพอากาศอินเดียในการขนส่งจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังอินเดียเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนออกซิเจนเพื่อใช้ในทางการแพทย์ สาธารณสุข รวมถึงภาชนะบรรจุ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่เป้นความจำเป็นในการชาวยเหลือรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศอินเดีย
“ขณะนี้อินเดียกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนทางการแพทย์อย่างหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นจำนวนมาก บีไอจีและแอร์โปรดักส์จึงได้ให้ทีมวิศวกรของบีไอจีดำเนินการเรื่องออกซิเจนและภาชนะบรรจุให้สำเร็จอย่างเร่งด่วน ด้วยความช่วยเหลือของครัยโอเทค เอเซีย (Cryotech Asia) ซึ่งเป็นผู้ผลิตภาชนะบรรจุออกซิเจนเหลวชั้นนำ กับเบสท์ โกลบอล โลจิสติกส์ (Best Global Logistics) และพาร์ทเนอร์ในการอำนวยความสะดวกและประสานงานทั้งหมด ผ่านการขนส่งด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศอินเดีย และได้ส่งมอบให้กับตัวแทนประเทศอินเดียสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี บีไอจีจึงขอร่วมเป็นตัวแทนของประเทศไทยช่วยเหลือประเทศอินเดียด้วยความภาคภูมิใจในครั้งนี้” นายปิยบุตร กล่าว
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและสังคมในวงกว้างอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้น บีไอจีได้เตรียมความพร้อมในการรับมือด้านความต้องการออกซิเจนเหลวทางการแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยวิกฤตที่เพิ่มมากขึ้น โดยดึงเอาศักยภาพทางเทคโนโลยีของบีไอจีเข้ามาช่วยเหลือในวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนเหลวทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วยโควิด-19
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำการกลับมาเดินเครื่องการผลิต (Restart)ใหม่ของ โรงแยกอากาศ (Air Separation Unit : ASU) โรงงาน 1 ซึ่งเป็นโรงแยกอากาศแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและไม่ได้ดำเนินการผลิตในช่วงเวลาปกติ แต่ยังมีศักยภาพในการผลิตออกซิเจน ส่งผลให้มีขีดความสามารถในการรองรับกับความต้องการออกซิเจนที่เพิ่มขึ้นได้อีก 30% จากความต้องการในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ป่วยหนักจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการระบาดรอบที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย
นายปิยบุตร กล่าวว่า ในฐานะที่บีไอจีมีกำลังการผลิตออกซิเจนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกว่า 1,000 ตันต่อวันซึ่งมากกว่าความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ในขณะนี้อยู่ประมาณกว่า 300 ตันต่อวัน บีไอจีจึงเตรียมพร้อมเพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพการขาดแคลนออกซิเจนเหมือนหลาย ๆ ประเทศ
ดังนั้นบีไอจีจึงได้กลับมาเดินเครื่องโรงแยกอากาศเพื่อผลิตออกซิเจนอีกครั้ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ด้วยกัน บีไอจี ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือทุกฝ่ายริเริ่ม ช่วยเหลือ สนับสนุน บุคลากรทางการแพทย์และประเทศไทยเพื่อคนไทยทุกคน