สสส.ถกสื่อ! หวั่นสงกรานต์กลับมาตายหนักอีกแล้ว
หวั่นสงกรานต์ปีนี้ ไม่ขลังเหมือนปีก่อน ที่โดน 3 ยาแรง “โควิด-เคอร์ฟิว-ห้ามขายเหล้า” จนยอดอุบัติเหตุและตาย อาจกลับมาพุ่งกันอีกครั้ง คาดช่วงหยุดยาว 9 วัน คนแห่คืนถิ่นและท่องเที่ยวทะลัก วงถก! “สสส.-มสส.-กลุ่มสื่อทุกแขนง” แนะ ตรวจเข้มตั้งแต่ “ต้นน้ำยันปลายน้ำ” พร้อมหา “คนผิดร่วม” อย่าตีกรอบเฉพาะคู่กรณีจากทุกเหตุร้าย พ่วงดึงเอาธุรกิจเหล้าร่วมรับผิดชอบ พร้อมเรียกร้องตรวจเข้มวัดไข้ใส่หน้ากากและหมวกกันน็อก
เหมือนภาครัฐจะวิ่งไล่ตามปัญหามาตลอด สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา “อุบัติเหตุและการเสียชีวิต” จากการดื่มสุราแล้วขับขี่ยวดยานพาหนะในช่วงวันหยุดยาวๆ เช่น เทศกาลปีใหม่และสงกรานต์
ทว่า การนิ่งเฉย โดยไม่ทำอะไรเสียเลย ก็ไม่ใช่คำตอบแท้จริง! ของเรื่องนี้
ล่าสุด มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ที่ได้ทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อมวลชน หัวข้อ “สงกรานต์ปลอดเหล้า ถนนปลอดภัย ในสถานการณ์โควิด 19” มีสื่อมวลชนจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์กว่า 10 สำนักเข้าร่วมประชุม เมื่อช่วงบ่ายวัน 5 เมษายน 2564 ณ ห้องไดนิ่ง ชั้น 1 The Halls Bangkok ถ.วิภาวดี หลักสี่ กรุงเทพฯ
นายอภิวัชร์ เกตุทัต ปธ.มสส. ระบุว่า สสส.ได้สนับสนุนโครงการสานพลังสื่อมวลชนไทย ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างวิถีสุขภาวะ เพื่อทำงานร่วมกันกับสื่อมวลชน และองค์กรสื่อมวลชนแขนงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อรณรงค์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะเพื่อขยายผลในวงกว้าง ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมประชุม Focus Group ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเวทีให้สื่อมวลชนและภาคีสุขภาวะของสสส.ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และความคิดเห็น พร้อมกับจะได้รับฟังข้อเสนอแนะของสื่อมวลชนเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อน “สงกรานต์ปลอดเหล้า ถนนปลอดภัย ในสถานการณ์โควิด-19” เพื่อลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตลงให้ได้มากที่สุด
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า สงกรานต์ปี 2563 เป็นครั้งแรกที่จำนวนอุบัติเหตุรุนแรง (ต้อง admit) ลดลง 61.2% และมียอดผู้เสียชีวิตลดลงถึง 56.8% เพราะโชคดีที่รัฐบาลประกาศใช้ยาแรง 3 ประการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดฯ คือ มีการล็อคดาวน์ การประกาศเคอร์ฟิว และห้ามขายเหล้า ต่างจากสงกรานต์ปีนี้ ที่แม้ยังมีสถานการณ์โควิดฯ แต่ไม่มียาแรงเหมือนปีก่อน คาดว่าปีนี้ผู้คนจะกลับบ้านไปฉลองสงกรานต์มากขึ้น เพราะหลายคนไม่ได้กลับมานาน และเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องทั้งสัปดาห์ หลังรัฐบาลประกาศเพิ่มวันหยุดให้อีก 1 วัน
ดังนั้น ความเสี่ยงจึงมีเพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็น ความเสี่ยงช่วงเดินทาง เช่น การขับรถเร็ว และง่วงหลับใน จากสถิติพบว่าสงกรานต์ 2563 ความเร็วเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตถึง 49.7% ส่งผลให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น โดย 56.89% ที่เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ ความเสี่ยงช่วงฉลอง ปีนี้คาดว่าจะมีการฉลองและงานรื่นเริงเร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 10-11-12 เมษายน ก่อนสงกรานต์ เพราะมีการหยุดยาว
รวมทั้งไม่ได้มีมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความเสี่ยงในช่วงเดินทางและช่วงฉลอง คือ การขับขี่โดยไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยโดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก พบว่า 84.3% เสียชีวิต อีกทั้งยับพบว่า 3 ใน 4 หรือ 75.6 % ในกลุ่มนี้ ไม่สวมหมวกกันน็อค กล่าวคือยิ่งดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งไม่สวมหมวกกันน๊อค
“จากแนวโน้มการคาดการณ์ความเสี่ยงความสูญเสียที่จะเพิ่มขึ้นในสงกรานต์นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคนโยบายและหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและหน่วยงานหลัก ทั้ง กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ต้องวางแผนโดยใช้กลไกในพื้นที่ เช่น ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและท้องถิ่น ร่วมกับชุมชน-แกนนำอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาจัดการความเสี่ยง โดยบูรณาการให้เกิดมาตรการทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” นพ. ธนะพงศ์ ย้ำและว่า
ในส่วนมาตรการชุมชนก็ต้องผสมผสานไปกับมาตรการป้องกันโควิดฯในระดับชุมชน เช่น ด่านชุมชนควรมีการกำกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งตรวจวัดไข้-การใส่หน้ากากอนามัย ควบคู่ไปกับการสวมหมวกกันน็อคด้วย ส่วนตัวเสนอว่า “ทุกการตาย ทุกการสูญเสีย ต้องมีผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องของการทำตัวเองของเหยื่อ”
ขณะที่ นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผจก.แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายงดเหล้าโดยการสนับสนุนของ สสส. ได้ผลักดันเรื่องการโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า โดยมี 50 ถนนตระกูลข้าวและพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม อย่างไรก็ตามสงกรานต์ปีนี้จะมีการหยุดยาวถึง 9 วัน มีสัญญาณเตือนว่าประชาชนจะกลับไปตั้งวงสังสรรค์และดื่มหนักมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาความรุนแรงจากความมึนเมาจะมีสูงขึ้น และหากมีการดื่มแล้วขับก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์ ดังนั้น ควรทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดมาตรการป้องกันที่ต้นน้ำให้มากขึ้น เพื่อทำให้การดื่มในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลง
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายงดเหล้าจะส่งสัญญาณไปที่เครือข่ายชุมชนต่างๆ ที่ทำงานอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ สวนสาธารณะ สวนอาหารริมน้ำ สถานที่เล่นน้ำ หาด หรือแก่งต่างๆ เพื่อร่วมกันหามาตรการเชิงรุก ขอความร่วมมือร้านค้าและประชาชนไม่ให้มีการจำหน่ายและนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปดื่มในพื้นที่ รวมถึงการตั้งเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ณ พื้นที่ดังกล่าว ร้านอาหารและสถานบันเทิงที่จำหน่ายเหล้า
นอกจากนี้ ควรนำเอามิติทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชุมชน อาทิ ทำบุญสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย การสมโภชสงกรานต์ และกิจกรรมการละเล่นในชุมชน มาใช้เพื่อเป็นกุศโลบายสร้างกิจกรรมที่เน้นคุณค่าความหมายและความเป็นมงคลให้แก่ชีวิต เพื่อให้แต่ละครอบครัวใช้เวลาไปกับกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม แทนมุ่งไปเฉลิมฉลองตั้งวงดื่มตลอดวันหยุดยาว พร้อมทั้งฝากอยากให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอุบัติเหตุในเชิงสอบสวน สืบสวน เพื่อหาสาเหตุของความสูญเสีย ซึ่งบางกรณีอาจโยงไปถึงภาคธุรกิจ เพื่อมีส่วนรับผิดชอบด้วย
ระหว่างร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น ตัวแทนสื่อมวลชน ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การสื่อสาร รณรงค์ กระตุ้นให้สังคมทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ร่วมรณรงค์และรับผิดชอบถึงความสูญเสีย จากอุบัติเหตุ ไม่เฉพาะในช่วงเทศกาล รวมถึงดึงเอาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน เพื่อสร้างกระแสสังคมกดดันและประจานกลุ่มคนที่ได้รับการปกป้องจากอำนาจรัฐโดยมิชอบ.