สวทช.-อภ.-ปตท. ร่วมพัฒนาวัตถุดิบทางยา เชิงพาณิชย์
สวทช.-อภ.-ปตท. ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางยา พร้อม ศึกษาศักยภาพเชิงพาณิชย์ มุ่งลดพึ่งพาการนำเข้า ส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพให้คนไทย
เมื่อ 1 เม.ย. 64 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (c) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา “กระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients; API) และ ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และ/หรือการสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย” ส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน New S-Curve ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ตั้งเป้าระยะแรกเน้นการวิจัยและพัฒนา API สำหรับโรค COVID-19 รวมถึง API ของ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)
สำหรับ API เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตยา โดยปัจจุบันประเทศไทยยังต้องมีการนำเข้า API จากต่างประเทศมากกว่า 95% ความร่วมมือในครั้งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสาธารณสุขที่มั่นคงต่อไป
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในความร่วมมือนี้ ปตท. จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของ API ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนรูปแบบโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนา API ของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ปตท. ตั้งเป้าขับเคลื่อนธุรกิจ Life Science ให้เห็นผลเชิงรูปธรรม จึงได้จัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวิสัยทัศน์ คือ บริษัทชั้นนำด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่มีวิทยาศาสตร์อันเป็นเลิศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา API จนถึงขั้นผลิตออกสู่ตลาดได้นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วย ศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา ความเชี่ยวชาญในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน และความสามารถในการพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ และด้วยศักยภาพความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 องค์กร จะช่วยส่งเสริมให้โครงการสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ ทั้งนี้ การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา API ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี