เยอรมนีให้ฉีดวัคซีน ‘แอสตราเซเนกา’ กับคนวัยเกิน 60 ปี
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลระบุว่า เยอรมนีจะจำกัดการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกาให้กับประชาชนวัย 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น หลังได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการวัคซีนของประเทศ
การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมองที่เกิดขึ้นได้ยากกับประชาชน 31 ราย หลังได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 โดสแรกของแอสตราเซเนกาในเยอรมนี
การตัดสินใจของเยอรมนีตรงข้ามกับคำแนะนำจากองค์การยายุโรป (EMA) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งระบุว่า ไม่มีความเชื่อมโยงว่าวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือด และวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
คณะกรรมการวัคซีนของเยอรมนีไม่ได้อธิบายการตัดสินใจและไม่ได้ระบุถึงอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันต่อจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีน
จนถึงตอนนี้ มีชาวเยอรมัน 2.7 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนโดสแรกของบริษัทแอสตราเซเนกาแล้ว อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุข โดยอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาแล้วอยู่ที่ 1 ต่อ 100,000 คน แต่ไม่มีรายละเอียดของการเกิดภาวะแทรกซ้อน และความรุนแรงของอาการ
นายกฯแมร์เคิลระบุในการแถลงข่าวที่กรุงเบอร์ลิน หลังมีคำแนะนำของคณะกรรมการวัคซีน STIKO ว่า ผู้มีอายุต่ำกว่า 60 ปีสามารถเข้ารับวัคซีนของแอสตราเซเนกาได้อย่างสมัครใจหลังมีการพบแพทย์ฉีดวัคซีนเพื่อพิจารณาความเสี่ยงของแต่ละบุคคล
ขณะที่เจนส สปาห์น รมว.สาธารณสุขขอให้ผู้ที่มีอายุ 60 – 69 ปี ตัดสินใจฉีดวัคซีนตามสิทธิ์ที่ได้
STIKP จะออกคำแนะนำเพิ่มเติมในการกระจายวัคซีนโดสที่สองให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งได้รับวัคซีนโดสแรกภายในสิ้นเดือนเม.ย.
ก่อนหน้าคำประกาศของคณะกรรมการวัคซีน ทางการกรุงเบอร์ลินและเมืองมิวนิค รวมถึงเมืองแบรนเดนเบิร์กระงับการใช้วัคซีนกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีแล้ว
เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีอยู่ในกลุ่มสิบกว่าประเทศที่ระงับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาในระหว่างที่มีการสอบสวนของ EMA ในประเด็นความกังวลที่ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีความเชื่อมโยงกันระหว่างวัคซีนกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
แต่ในเดือนมี.ค. เอเมอร์ คุก ผอ.EMA ระบุว่า มีผลสรุปที่ชัดเจนว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
โดยเธอระบุว่า EMA ไม่พบว่าวัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือด แม้จะยังไม่ตัดความเป็นไปได้โดยสิ้นเชิงถึงความเชื่อมโยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันซึ่งหาได้ยาก คุกเสริมว่าประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยง และทั้ง EMA และ WHO ก็เน้นย้ำในประเด็นนี้เหมือนกัน