เลขาฯอาเซียนคาดจีดีพีกลุ่มฯปีนี้โต 5.2%
“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ร่วมประชุม “รมต.คลังอาเซียน” และ “รมต.การเงินและเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารกลาง” ครั้งที่ 7 ผ่านวีดิโอ คอนเฟอร์เรนซ์ ด้าน “เลขาธิการอาเซียน” คาดจีดีพีอาเซียน ปี’64 โตจากปีก่อน ที่ระดับ 5.2%
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงกรณี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เข้าร่วม การประชุม รมต.คลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี รมต.การเงินและเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารกลาง บรูไนดารุสซาลาม เป็นประธานร่วม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. รมต.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ได้หารือกับผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศได้ให้ข้อเสนอแนะโดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure)
นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียน ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ในปี 2564 ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งฟื้นตัวจากปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 4.4 อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร โดยเฉพาะด้านดิจิทัล และการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืนและทั่วถึงในระยะยาว
อีกทั้ง ที่ประชุม AFMGM ยังได้รับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ในประเด็นความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมกลไกการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน การส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล(Digital Transformation) การส่งเสริมพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy) เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และความร่วมมือด้านภาษีอากรของประเทศสมาชิกอาเซียน
ทั้งนี้ รมว.คลัง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทยในการดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ เป็นต้น รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง
รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของฐานข้อมูลดิจิทัลที่ถูกต้องจะช่วยให้การเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 25 และ AFMGM ครั้งที่ 7 ได้เห็นชอบประเด็นด้านการเงินที่ประธานอาเซียนต้องการผลักดันในปี 2564ประกอบด้วย (1) การลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 9 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (2) การจัดสัมมนาให้ความรู้ทางการเงินของอาเซียน ในปี 2564 และ (3) การริเริ่มการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy on Sustainable Finance) ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันให้บรรลุประเด็นดังกล่าวข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
3. ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 25 ได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียนในประเด็นต่างๆ อาทิ ด้านศุลกากร ด้านภาษีอากร ด้านการประกันภัย ด้านการระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนาตลาดทุน โดยที่ประชุมได้รับทราบความสำเร็จของ (1) การประเมินความเสี่ยงและให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงเพื่อประกอบการจัดทำแม่แบบ (Template) ของข้อมูลความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และข้อมูลความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากภัยพิบัติแล้วเสร็จใน 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ (2) การดำเนินการเดินรถจริง (Full Live Operation) ของโครงการนำร่องระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System: ACTS) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
ทั้งนี้ นายอาคม กล่าวสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ประโยชน์จากระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW) และดำเนินโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ (Authorized Economic Operator: AEO) ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมระบบความปลอดภัยทางโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของประเทศไทยสำหรับการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรที่เป็นมาตรฐาน (Standardised Certificate of Residence: CoR) ของอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Double Taxation Agreement: DTA) ระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. ที่ประชุม AFMGM ครั้งที่ 7 ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในสาขาต่างๆ ภายใต้แผนงานการรวมกลุ่มด้านการเงินของอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) และ ความร่วมมือด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน (ASEAN Sustainable Finance Cooperation) โดยที่ประชุมได้รับรองข้อริเริ่มการจัดทำ ASEAN Taxonomy ดังกล่าวซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคตลาดทุน ภาคการธนาคารและภาคประกันภัย ที่จะเป็นการสนับสนุนการระดมทุนและการลงทุนในกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน
อนึ่ง รมว.คลัง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ของประเทศไทยต่อที่ประชุมโดยเฉพาะการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศไทย รวมถึงการเติบโตอย่างทั่วถึง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น
ซึ่งในปี 2563 กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ สบน. ยังมีแผนที่จะดำเนินการออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อสร้างสภาพคล่องให้แก่พันธบัตรและสนับสนุนการระดมทุนอย่างยั่งยืนต่อไป
ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและแผนการดำเนินการที่ส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน รวมถึงมีกลไกการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศและผู้แทนภาคเอกชนข้างต้น นอกจากนี้ การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่มุ่งเน้นในด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งต่อไปในปี 2565 จะมีราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม – ช่วงต้นเดือนเมษายน 2565.