เคส สั่งสอน “คุณ” คือตัวประกัน !!
อาจมองว่า ผู้ตอบ อาจตอบไม่ตรงประเด็น แต่…ลึกๆในคำตอบกลับกลายเป็นประเด็น … แหล่งเอราวัณ แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ขุมทรัพย์ ที่ถูกกอบโกย ขนถ่ายขึ้นมาผลิตไฟฟ้า ขายไฟให้กับคนไทย
ถึงวันนี้ ปมปัญหา แหล่งเอราวัณ ก็ยังไม่คลี่คลาย…
การเจรจาเพื่อเข้าพื้นที่เพื่อบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ ระหว่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานรายเก่าที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในเดือน เมษายน 2565
ยังไม่บรรลุข้อตกลง …
เชฟรอน ยังคงไม่เปิดทางให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ
อาการร้อนรน กระวนกระวาย จึงมีให้เห็นอย่างเนื่องๆ ในฝั่งไทย
เพราะตามแผนงาน ปตท.สผ. จะต้องเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติม ภายในปี 2563
แต่…ปีนี้ 2564 ปตท.สผ. ก็ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้
ภาครัฐ ผู้ให้สัมปทาน และ ปตท.สผ. ผู้ได้รับสัมปทาน จึงออกอาการ กระวนกระวาย เนื่องเพราะใกล้วันที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมในวันที่ 23 เม.ย. 2565 หรือ อีก 1 ปีเท่านั้นเอง
นั่นเพราะ การติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมใหม่ การทดลองระบบ การแก้ไขจุดบกพร่อง เพื่อเตรียมความพร้อมผลิตก๊าซธรรมชาติ… เวลา 1 ปีอาจจะไม่เพียงพอ
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน บอกว่า แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ เอราวัณ และ บงกช ถือเป็นหัวใจหลักของก๊าซธรรมชาติของประเทศ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากทั้ง 2 แหล่ง มีปริมาณสูงถึง 2.1 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณ 80% ของกำลังการผลิตก๊าซที่ได้ทั้งหมดในประเทศ
ที่สำคัญคือ ก๊าซที่ได้จากแหล่งผลิตทั้ง 2 แหล่งนี้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าให้กับคนไทยทั้งประเทศ หากไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อผลิตไฟฟ้า
ซึ่งหากราคานำเข้าสูงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุน ยังผลให้ราคาค่าไฟฟ้าอาจจะสูงขึ้น ตามต้นทุนผันแปร หรือที่เรียกว่า ค่าเอฟที
“ภาครัฐ” ต้องสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวง “ปทต.สผ.” ก็ต้องโดนปรับ เพราะไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญา
จึงจะเห็นได้ว่าหลายฝ่าย “ฝั่งไทย” ต่างเร่งรีบ เตรียมแผนที่จะมารองรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนฝั่ง “เชฟรอน” ผู้ได้สัมปทานรายเดิม ก็น่าจะคาดเดาเหตุการณ์ได้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หาก ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ล่าช้า
การที่ “เชฟรอน” ออกมาชี้แจง ว่าได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กับ ปตท.สผ.แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกชายฝั่ง สำหรับการเป็นผู้ดำเนินงานแหล่งเอราวัณในเดือน เมษายน 2565
แต่ก็ยังไม่บรรลุข้อตกลงหลัก คือ เปิดทางให้ “ปตท.สผ.” เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมดำเนินการต่อในแหล่งเอราวัณ…
“เชฟรอน” ยังได้ย้ำว่า ยังคงทำงานร่วมกับ “ปตท.สผ.” และ “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” อย่างต่อเนื่อง เพื่อประสานความร่วมมือกันในการส่งมอบแหล่งเอราวัณในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน
ความคืบหน้าในกิจกรรมสำคัญต่างๆ ก็มีความร่วมมือกันมาตลอด เช่น การเตรียมการสำหรับการถ่ายโอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมและข้อมูลการดำเนินงานในการบริหารแหล่งเอราวัณ
การประสานความร่วมมือเตรียมการด้านบุคลากรให้กับ “ปตท.สผ.” ซึ่ง “เชฟรอน” ได้บอกว่า ได้ให้ความร่วมมือในการอนุญาตให้พนักงานบางส่วนสามารถไปทำงานกับ “ปตท. สผ.” ได้ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานในช่วงเตรียมการ ก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทานของแหล่งเอราวัณ
เชฟรอน ได้ชี้แจงอีกว่า แม้ว่าการส่งผ่านแหล่งเอราวัณจะมีความท้าทายด้วยรายละเอียดต่างๆ ที่ซับซ้อน แต่ เชฟรอนยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบแหล่งเอราวัณให้สำเร็จลุล่วงด้วยความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการจัดหาพลังงานอย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้
และที่น่าสนใจคือ “เชฟรอน” ได้บอกว่า ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
นั่นก็หมายความว่า เชฟรอน ยังคงต้องการที่จะลงทุนด้านพลังงานในประเทศไทยต่ออีก
อาจมีคำถามว่า เชฟรอน ตอบไม่ตรงประเด็น กับปมปัญหา แต่หากมองให้ละเอียดกลับมีประเด็นแอบแฝงไว้
ฉะนั้นการเจรจาที่ยืดเยื้อยาวนานมานับปี นั่นอาจเป็นเพราะ ไม่ Win Win ทั้ง 2 ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งที่ไม่ Win กลับต้องมาเสียเงินค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ทั้งที่ ผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ยังคงได้ประโยชน์และใช้งานต่อ
งานนี้ จึงมิใช่เพียง รัฐเสียประโยชน์ ผู้ได้รับสัมปทานรายใหม่ เสียค่าปรับ
แต่ทั้งหมดนี้ คือ ภาระของผู้ใช้ไฟฟ้า… ภาระของประชาชน ที่จะต้องจ่าย ค่าไฟที่แพง โดยมี แหล่งเอราวัณ เป็น ตัวประกัน…!!