เกาหลีเหนือเจอวิกฤตภัยแล้ง
เกาหลีเหนือกำลังประสบกับการขาดแคลนอาหารขั้นวิกฤตหลังจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา อ้างอิงจากรายงานของสหประชาชาติ
ผลผลิตทางการเกษตรในประเทศเกาหลีเหนือหยุดชะงักเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งยาวนานและต้องมีการนำเข้าอาหารอย่างเร่งด่วนเพื่อเติมเต็มช่องว่างความขาดแคลนนี้ ทางยูเอ็นออกโรงเตือน
โดยประชากรกลุ่มที่มีความอ่อนไหวอย่างเด็กและผู้สูงอายุจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้รุนแรงที่สุด
ย้อนหลังไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เชื่อกันว่ามีชาวเกาหลีเหนือหลายแสนคนต้องเสียชีวิตจากความอดอยากที่กระจายไปทั่วประเทศ
องค์กรอาหารและเกษตรกรรมของยูเอ็น ( FAO) รายงานเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ว่า ภัยแล้งล่าสุดเป็นเรื่องน่าวิตกมาก เนื่องจากความช่วยเหลือทางอาหารแบบทวิภาคีลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีนี้
นี่เป็นผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศเพื่อลงโทษเกาหลีเหนิอในกรณีสะสมและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ โดยโครงการอาหารโลกของยูเอ็น ( WFP) มองเห็นถึงปริมาณการบริจาคที่ลดลง
ฝนที่ไม่ตกมานานหลายเดือนส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว มันฝรั่งและถั่วเหลือง โดยปริมาณน้ำฝนในปี 2560 นี้ต่ำว่าค่าเฉลี่ยมาก ทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อช่วงต้นฤดู ทั้งข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และมันฝรั่ง ล้วนได้รับผลกระทบถ้วนหน้ากัน
โดยทาง FAO ประเมินว่า ผลผลิตในปีนี้เมื่อช่วงต้นฤดูลดลงมากกว่า 30% คือลดลงมาเหลือ 310,000 ตันจากเดิม 450,000 ตัน
เมือฝนเริ่มตกในเดือนก.ค. จึงเป็นการสายเกินไปที่จะเพิ่มผลผลิตให้ทันช่วงเก็บเกี่ยวในเดือน ต.ค.-พ.ย. การผลิตอาหารที่ไม่เพียงพอหมายถึงประชากรจำนวนมากของเกาหลีเหนืออาจต้องพบกับภาวะขาดแคลนอาหาร หรือไม่ก็เสียชีวิต
ภาวะการเพาะปลูกที่ไม่ได้ผลในปีนี้ ทำให้เกาหลีเหนือต้องนำเข้าอาหารอย่างน้อยใน 3 เดือนหน้าเพื่อให้มั่นใจว่ามีปริมาณอาหารสะสมเพียงพอ
ภูมิภาคที่ประสบภัยแล้งรุนแรงคือพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชสำคัญในเปียงยางใต้และเหนือ ฮวางแฮเหนือ และเมืองนัมโป ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชทั้งหมด
ในปี 2544 เกาหลีเหนือประสบกับสภาพอากาศหนาวที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี ส่งผลให้ประเทศขาดแคลนข้าวโพดและข้าวสาลีอย่างรุนแรง
ทาง WFP รายงานว่า ได้ส่งอาหารประมาณ 8 ล้านตันเข้าไปช่วยเหลือพลเมืองเกาหลีเหนือในช่วงปี 2539 – 2544
การทำเกษตรกรรมยังคงถูกควบคุมจากภาครัฐ แต่มีการปฏิรูปอย่างเงียบๆเพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ต่างประเทศเข้าถึงเกาหลีเหนือได้ แต่ยังคงถูกควบคุมจากภาครัฐ.