ใครจ่าย?! รื้อแท่นเอราวัณ 45,000 ลบ.
กลายเป็น มหากาพย์ อีกหนึ่งคดี ปมรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ระหว่าง ภาครัฐ กับ บริษัทข้ามชาติ เชฟรอนสหรัฐอเมริกา ที่ต้องพึ่ง อนุญาโตตุลาการ หายุติข้อพิพาทนี้
เหมือนจะจบ แต่ไม่จบ ข้อพิพาท ปมรื้อรอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ
หลังจาก เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2562 ทาง บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา บริษัทแม่ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะยื่นฟ้องต่อรัฐไทยเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้มีการเจรจาหาข้อยุติระหว่างกันภายใน 180 วัน หรือภายใน มี.ค. 63 ตามที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงาน ร้องขอ
แต่…การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นผล
เนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังคงยืนยันที่จะให้ เชฟรอน วางหลักประกันที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด
ทั้งในส่วนที่รัฐรับโอนเพื่อใช้ประโยชน์ จำนวน 142 แท่น และส่วนที่รัฐไม่ได้รับโอนอีก 49 แท่น ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมพ.ศ. 2559 ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
โดยแท่นผลิตในแหล่งเอราวัณมีทั้งหมด 191 แท่น ซึ่งรัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ 142 แท่น ทำให้เชฟรอนต้องรื้อถอน 49 แท่น แต่ได้นำไปใช้ทำปะการังเทียม 7 แท่น ดังนั้น คงเหลือรื้อถอน 42 แท่น
ซึ่ง เชฟรอน ก็ประกาศชัดว่า พร้อมที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายการรื้อถอนเฉพาะ แท่นที่รัฐไม่ได้รับโอนเท่านั้น (ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนได้มีการประเมินไว้ กว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อแท่น)
ดังนั้นหากเป็นไปตามที่รัฐบาลไทย ระบุว่า เชฟรอนจะต้องวางเงินหลักประกันค่ารื้อถอนในอนาคตสำหรับ 142 แท่นที่รัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ด้วยการโอนให้กับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ได้รับช่วงสัมปทานแหล่งเอราวัณรายใหม่ ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 45,000 ล้านบาท
เมื่อข้อพิพาทดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ จึงทำให้ ปตท.สผ. ผู้รับช่วงสัมปทาน จากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ได้รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะหมดอายุสัญญาในเดือน เม.ย.65 ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้
และหากต้องต่อสู้คดี งบประมาณ 450 ล้านบาท คือ เงินที่กระทรวงพลังงาน จัดเตรียมไว้เพื่อจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ สู้คดี
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บอกไว้ว่า ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่กำหนดให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.ในฐานะผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ ต้องเข้าพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) เพื่อผลิตก๊าซฯหลังหมดสัญญาสัมปทานในช่วงเดือน เม.ย. ปี 2565 โดยจะต้องรักษาอัตราการผลิตไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่ให้เกิดการสะดุดในช่วงรอยต่อเปลี่ยนมือจากผู้รับสัมปทานเดิมไปสู่รายใหม่
ดังนั้น หากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ก็อาจกระทบในเรื่องความต่อเนื่องการผลิตได้ ซึ่งตามเป้าหมายเดิมผู้ดำเนินการรายใหม่ จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้รับสัมปทานรายเดิม เพื่อเริ่มเข้าสู่พื้นที่ได้ตั้งแต่กลางปี 2563
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตดังกล่าว ปตท.สผ. จะต้องขออนุญาตจากทางเชฟรอน และจะต้องมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement)
แต่จนขณะนี้ ปาเข้าไป เดือน มี.ค.64 ปตท.สผ. ก็ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้…ความต่อเนื่อง การผลิตก๊าซฯเพื่อนำมาป้อนให้กับโรงไฟฟ้า จึงมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง…
แม้ล่าสุด กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเร่งให้ ปตท.สผ. และ เชฟรอน เจรจาเพื่อให้ได้เข้าพื้นที่โดยเร็วที่สุด แต่ก็เหลว เพราะจากคำชี้แจงของ นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. ที่ระบุว่า
ได้ลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 แล้ว แต่เมื่อเข้าสู่การเจรจาข้อตกลงเข้าพื้นที่ระยะที่ 2 เพื่อเข้าดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิต ซึ่งมีความจำเป็นต่อการเตรียมการผลิต ผู้รับสัมปทานปัจจุบันกลับไม่ยินยอม
แม้ ปตท.สผ. จะยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดในการเข้าพื้นที่ ตามที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันต้องการ เช่น การรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน ก็ตาม
ดังนั้นเมื่อการเจรจาไม่เป็นผล ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ ก็จะมีผลกระทบกับความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศ อย่างเลี่ยงมิได้…
ยังดีที่พอมีทางออก เมื่อ ปตท. โดดเข้ามากช่วยเจรจากับผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แหล่งอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ ทดแทน
พร้อมยังได้เร่งรัดการก่อสร้าง LNG Terminal แห่งใหม่ให้แล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 และยัง เตรียมแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หากมีความจำเป็น
ทำให้หลายฝ่ายโล่งใจ ประเทศไทยไม่ประสบปัญหา ขาดแคลน ก๊าซธรรมชาติ อย่างแน่นอน
แต่ที่ยังหายใจ หายคอ ไม่คล่อง ก็คือ…
การต่อสู้คดีความ ที่ เชฟรอน ยื่นฟ้องต่อ อนุญาโตตุลาการ เพื่อหาข้อยุติกรณีการรื้อถอนแท่นผลิตในแหล่งเอราวัณ ที่จะต้องใช้เงินกว่า 45,000 ล้านบาท …
ใครกันหละหนอ จะเป็นคนจ่ายเงินก้อนนี้ .?!