รำลึก 10 ปี แผ่นดินไหว/สึนามิญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ญี่ปุ่นมีพิธีไว้อาลัยรำลึกถึงเหยื่อเกือบ 20,000 รายที่เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิที่ถล่มหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นเมื่อสิบปีก่อน สร้างความเสียหายร้ายแรงกับหลายเมืองและทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ
สึนามิที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด (ซึ่งเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์) โถมขึ้นชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ถล่มทำลายโรงไฟฟ้าไดอิจิและทำให้ประชาชนกว่า 160,000 คนต้องอพยพหลบหนีออกจากพื้นที่ซึ่งรังสีนิวเคลียร์กระจายไปในอากาศ
หายนะจากนิวเคลียร์ครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลเป็นต้นมา และเหตุแผ่นดินไหวทำให้ผู้รอดชีวิตต้องดิ้นรนอย่างยากลำบากเพื่อต่อสู้เอาชนะความโศกเศร้าจากการสูญเสียครอบครัวและเมืองไปในคลื่นสูงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ชั่วโมงของบ่ายวันที่ 11 มี.ค.2554
ประมาณ 50 กม.ทางใต้ของโรงไฟฟ้า ในเมืองชายฝั่งอิวากิ ซึ่งกลายเป็นฮับของแรงงานที่ทำงานรื้อถอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อัตสึชิ นิซูมะ เจ้าของร้านอาหารสวดมนต์ให้มารดาของเขาที่เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์
“ผมอยากบอกแม่ว่า ลูกๆของผม ซึ่งเป็นหลานที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับแม่ มีชีวิตที่ดีแล้ว ผมมาที่นี่เพื่อขอบคุณแม่ที่คุ้มครองครอบครัวเราให้มีชีวิตที่ปลอดภัย” นิซูมะ วัย 47 ปีกล่าว
รัฐบาลจัดสรรงบประมณ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูภูมิภาค แต่พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ฟุกุชิมะยังคงห้ามเข้า จากความกังวลเรื่องระดับรังสี และผู้ที่อพยพออกไปล้วนปักหลักตั้งรกรากที่อื่น โดยกระบวนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าที่เสียหายจะใช้เวลานานหลายทศวรรษ และงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ประมาณ 40,000 คนยังเป็นคนพลัดถิ่นไร้ที่อยู่จากภัยพิบัติ
อีกครั้งที่ญี่ปุ่นยังถดเถียงถึงบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่ประเทศยากจนที่เป็นแหล่งพลังงานกำลังตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงภายในปี 2593 เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แต่ผลสำรวจของสถานีโทรทัศน์ NHK ระบุว่า ประชาชนประมาณ 85% มีความกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากนิวเคลียร์
การเดินขบวนต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขึ้นทุกวันที่ 11 มี.ค.ของทุกปีแผ่วลง แต่ความไม่เชื่อใจยังคงอยู่ โดยนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งมีแผนจะเดินขบวนไปประท้วงหน้าบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในคืนวันที่ 11 มี.ค.
มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียง 9 จาก 33 แห่งที่ได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการได้หลังผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของฟุกุชิมะ และมีเพียง 4 เตาที่ทำงานอยู่ เมื่อเทียบกับ 54 เตาก่อนเกิดภัยพิบัติ
ญี่ปุ่นมีปริมาณพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็นเพียง 6% ของพลังงานที่ประเทศต้องการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับ 23.1% ของแหล่งพลังงานทดแทน (ตามหลัง 46.3% ของเยอรมนี) และเกือบ 70% เป็นพลังงานฟอสซิล