เมื่อกองทัพรุก! ความมั่นคง “เศรษฐกิจ-พลังงาน”
รัฐบาล หน่วยงานรัฐ เอกชน และต่างชาติ ที่เคยผูกขาด “เศรษฐกิจ – พลังงาน” จะว่ายังไง? เมื่อกองทัพฯ มองสิ่งนี้…เป็นอีกหนึ่งความมั่นคงของชาติ ที่พวกเขาจะต้องลงมาเป็น “ผู้เล่น-ตัวสำคัญ”
ปัญหาความมั่นคงของชาติ! ในมุมมองของกองทัพยุคปัจจุบัน หาได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะกับความมั่นคงทางด้านการทหารอีกต่อไป
ผลกระทบต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลสะเทือนไปถึงสถานภาพด้านงบประมาณฯของกองทัพ ที่อาจได้รับผลกระทบจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งถูกกำหนดจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ อีกทอดหนึ่ง…
รัฐบาลจะปรับเพิ่มหรือลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับกองทัพ…ล้วนเป็นผลมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
กองทัพบก ภายใต้การนำของ พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. จึงกำหนดให้ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งความมั่นคงของชาติ ที่กองทัพบกให้ความสนใจเป็นพิเศษ!
เช่นกัน…ปัญหาทางด้านพลังงาน ซึ่งเป็นอีกเซ็กเม้นท์ใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ก็นับเป็นอีกหนึ่ง…ความมั่นคง ที่กองทัพบกยุคนี้ จำต้องลงมาดูแล อย่างน้อย…ก็ในมิติที่ กองทัพบก ครอบครองที่ราชพัสดุทั่วประเทศมากกว่า 4 ล้านไร่
เพราะที่ดินในจำนวนนั้น ถูกระบุว่าเป็น…แหล่งแร่ควอตซ์คุณภาพสูง จำนวนมหาศาล สามารถนำไปผลิตแผงโซลาร์เซลล์ สร้างพลังงานทางเลือกที่สะอาดจากแสงอาทิตย์
รองรับการใช้งานในประเทศ และส่งออกไปขายยังต่างประเทศ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ชดเชยกับภาวะเศรษฐกิจที่ดำดิ่ง จากพิษการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน…ได้เป็นอย่างดี
“เราจะปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาครองงำธุรกิจด้านพลังงานของประเทศไม่ได้ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงของชาติตามมา” พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กก.ผอ.ใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (กอญ.ททบ.5) ในฐานะ ตัวแทนกองทัพบกกล่าวระหว่างรับประทานอาหารเที่ยง ร่วมกับคณะสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคาร ททบ.5
แรงกว่านั้น…กอญ.ททบ.5 ยังประกาศให้ได้ยินดังๆ ทั่วกันว่า..ทหารสมัยนี้ไม่ใช่ควาย? พวกเขายังมีข้อมูลเชิงลึก มีคอนเน็กชั่น และรู้จักทฤษฎีเหมือนที่หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนรู้ โดยเฉพาะมิติทางด้านเศรษฐกิจและพลังงาน
นั่นจึงนำสู่แนวคิดที่ กองทัพบก คาดหวังจะ “ชิงธงนำ” สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ทั้งในมิติด้านพลังงานและเศรษฐกิจ ด้วยการเป็น“แกนหลัก” ดึงตัวแทนรัฐบาลจีน เข้าร่วมโครงการผลิตแร่ควอตซ์ในประเทศไทย
เนื่องจาก กองทัพบก มีข้อมูลว่า…พื้นที่ของตน โดยเฉพาะใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ลากยาวไปถึง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เป็นแหล่งกำเนิดของแร่ควอตซ์คุณภาพสูง และมีมากพอจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากถึง 5 แสนเมกะวัตต์
ก่อนหน้านั้น กองทัพบก ภายใต้การนำของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ โดยมี “กระเป๋าเงิน-คู่ใจ” อย่าง…พล.ท.รังษี กอญ. ททบ.5 ร่วมเคียงข้าง ได้เซ็นเอ็มโอยูกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อการทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกร่วมกัน เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ความร่วมดังกล่าว…นำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “เมกกะ โซลาร์ฟาร์ม” ขนาดกำลังการผลิตสูงถึง 3 หมื่นเมกกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนที่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจไทย ร่วมกันลงขันราว 6 แสนล้านบาท
กองทัพไม่ต้องลงทุน เพียงให้ใช้ที่ราชพัสดุในความครองกระจายไปทั่วประเทศ
และวัตถุดิบที่จะนำไปสร้างแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าร่วมกับ กฟผ. รวมถึง บมจ. ปตท.และเอกชนรายอื่นๆ นั้น ก็มาจากแหล่งแร่ควอตซ์ข้างต้น
ซึ่ง พล.ท.รังษี ยืนยันในฐานะ ตัวแทนกองทัพบก เนื่องจากเป็น “เพื่อนสนิทกับ ผบ.ทบ.” อีกว่า กองทัพบก มีแผนเข้าพบและนำเรียนเรื่องนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาถึงหลักการ เหตุผล และความจำเป็น เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป
โดยระหว่างนี้ กองทัพบกอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานทั้งระบบ เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณา คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมหรือต้นเมษายนนี้
พล.ท.รังษี ระบุว่า รัฐบาลจีนคือเป้าหมายหลักที่กองทัพจะเชิญมาร่วมผลิตแร่ควอตซ์ในลักษณะ Profit Sharing หรือการแบ่งปันผลกำไรจากการลงทุน โดยฝ่ายไทย คือ รัฐบาลไทยไม่ต้องลงทุนเรื่องเงิน ปล่อยให้รัฐบาลจีน หรือรัฐวิสาหกิจของจีนเป็นฝ่ายลงทุนทั้งหมด
กำหนดสัดส่วนผลประโยชน์ ฝ่ายไทย 40% จีน 60%
“กองทัพบกมองไปที่รัฐบาลจีน เพราะเขามีทั้งเงินลงทุน มีเทคโนโลยีการผลิต และประสบการณ์มาก่อน อีกทั้งยังมีตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้า (แผงโซลาร์เซลล์) ได้เป็นจำนวนมาก โดยเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการราว 6 แสนล้านบาท น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งหากกองทัพบกสามารถเสนอแผนงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พิจารณาและเห็นชอบกับแนวทางที่จะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือเมษายน โดย พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ และจะเริ่มผลิตแร่ควอตซ์ออกมาได้ในช่วงปลายปี 2565” พล.ท.รังษี กล่าวและว่า
การผลิตแร่ควอตซ์ กระทั่งนำไปผลิตแผงโซลาร์เซลล์ สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอยในช่วง 3-4 ปีนับจากนี้ได้
เมื่อเศรษฐกิจโลกและของไทยกลับสู่ภาวะปกติ การท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเหมือนเดิม จะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก…
การหันไปถึงพิงพลังงานแสงอาทิตย์ แทนที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเช่นที่ทำในปัจจุบัน จะช่วยลดการสูญเสียรายได้จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล
“คาดว่าจะใช้พื้นที่จัดทำโครงการโซลาร์ฟาร์มราว 2.4 แสนไร่ โดยทุกๆ 8 ไร่ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 1 เมกะวัตต์” พล.ท.รังษี ระบุ พร้อมกับชี้ว่า…
การที่รัฐบาลจะปรับแผนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากแผนทุกแผนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาและตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากหน่วยงานไหนจะมาอ้างว่าแผน PDP ปรับเปลี่ยนไม่ได้นั้น ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะทหารวันนี้ มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและพลังงานได้ไม่น้อยกว่าหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง
ถึงตรงนี้…ใครก็ฉุดและหยุด! กองทัพบก ที่เตรียมจะรุกงานด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานและเศรษฐกิจ ได้ไม่ง่ายอีกแล้ว…
ในเมื่อ มิติด้านพลังงานและเศรษฐกิจ คือ อีกความมั่นคงของชาติ ที่กองทัพฯ ไม่เฉพาะกองทัพบก เพียงลำพัง จะปล่อยให้ฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ เอกชน และต่างชาติ ผูกขาด! ไม่ได้อีกต่อไป.