“กฟผ.”ชงบอร์ดประมูลโซลาร์ลอยน้ำ
กฟผ. ชงเสนอบอร์ดประมูลการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยจับมือกับ SCC พัฒนาทุ่นลอยน้ำก่อนเป็นอันดับแรก
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเสนอคณะกรรมการเร็วๆ นี้เพื่อพิจารณาเปิดประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุว่าจะดำเนินการได้ในปีนี้หรือไม่ เนื่องจากยังต้องรอนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กฟผ.จะดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจีเพื่อพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยง ใช้เป็นต้นแบบของการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าจากเขื่อน มีกำลังผลิต 200-250 กิโลวัตต์ (kW) ติดตั้งในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำในระยะแรกก่อน และดำเนินโครงการ 45 เมกะวัตต์เป็นระยะที่สอง
ส่วนระยะที่สามที่กำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้งใน 11 เขื่อนทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการผลิตรวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์นั้น ต้องรอความชัดเจนจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ออกมาก่อน โดย กฟผ.เตรียมเสนอบอร์ดเร็วๆ นี้ประมูลทำโซลาร์ลอยน้ำ 45 MW หากผ่านเสนอ กพช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างปรับปรุงองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology) ที่ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบลดลง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของกฟผ.
ทั้งนี้ กฟผ.ก็ได้สื่อสารเรื่องดังกล่าวให้กับพนักงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าที่จะมีพนักงาน กฟผ.ทยอยเกษียณอายุประมาณ 1,200-1,400 คน/ปี ก็จะทำให้มีเวลาในการปรับองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและให้เป็นองค์กรที่กระชับและสามารถแข่งขันได้ โดยคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า กฟผ.จะเหลือพนักงานราว 16,000 คน จากระดับ 21,000-22,000 คนในปัจจุบัน ส่วนจะมีการรับพนักงานใหม่เพิ่มหรือไม่นั้น คงต้องรอการปรับองค์กรให้นิ่งแล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะต้องเพิ่มในส่วนใดอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น กฟผ.ก็ได้ติดตามเพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อระบบความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างไร เพื่อจะพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น การพัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้า รองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP ให้แล้วเสร็จตามกำหนด พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบสมาร์ทกริดให้การผลิตและจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพ พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
รวมถึงจะนำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตและส่งไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานมาใช้ รวมถึงต่อยอดนวัตกรรมเดิมที่ประสบความสำเร็จแล้วมาสร้างเป็นธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่กันไปด้วยให้องค์กรมีการเติบโต
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.มีประมาณ 36% จากกำลังการผลิตรวมของประเทศ แต่ กฟผ.ไม่สามารถประเมินได้ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมของ กฟผ.ควรอยู่ในระดับใด เพราะต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผน PDP ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลต้องการให้มีโรงไฟฟ้ามั่นคง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของโรงไฟฟ้ามั่นคงดังกล่าว
ขณะเดียวกัน กฟผ.ก็มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนาองค์กร และเป็นการหาพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรด้วย โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ และจัดทำแผนที่นำทางแพลตฟอร์มดิจิทัลการไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ NETP ส่งเสริมการบูรณาการ การจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกันของรัฐวิสาหกิจเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต
ตลอดจนร่วมมือกับ บมจ.ปตท.(PTT) ในการหาโอาสความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจระหว่างกัน เบื้องต้นมองทั้งในส่วนของเชื้อเพลิง, นวัตกรรม, การลงทุนต่างประเทศ, ธุรกิจที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคาดว่า น่าจะมีความชัดเจนในกลางเดือนก.ค.นี้
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวน 1.5 ล้านตัน/ปี ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลแล้วนั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดประมูลเพื่อนำเข้า LNG ได้ เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนเรื่องค่าไฟฟ้ากับคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อน เพราะการนำเข้า LNG นั้นจะสัมพันธ์กับต้นทุนเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มขึ้น โดยเมื่อได้ข้อสรุปเรื่องค่าไฟฟ้าแล้ว ก็จะสามารถเปิดประมูลเพื่อนำเข้า LNG ได้ต่อไป
ขณะที่การดำเนินโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification: FSRU) บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตัน/ปีของกฟผ.นั้นยังคงดำเนินการได้ตามแผน.