ธ.ก.ส.เร่งแจกบัตร “เกษตรสุขใจ”
ธ.ก.ส.มั่นใจเกษตรกร 8 แสนคน จะใช้บัตรเกษตรสุขใจชำระผ่านระบบคิวอาร์โค้ด แทนบัตรสินเช่ื่อเกษตรกรที่จะใช้เครื่องอีดีซีในการรับชำระเงิน
นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าภาย ในเดือนก.ย.นี้ จะมีเกษตรกรถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส.จำนวน 800,000 ราย มาขอเปลี่ยนเป็นบัตรเกษตรสุข ใจ ซึ่งบัตรใหม่นี้ จะใช้ระบบคิวอาร์โค้ดในการชำระเงินแทนระบบเดิมที่ใช้เครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ (อีดีซี) สำหรับการเปลี่ยนระบบการชำระเงินจากเครื่องอีดีซี มาเป็นคิวอาร์โค้ดนั้น จะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการทำงานหลังบ้าน เช่น การเก็บข้อมูล การชำระหนี้และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และยังสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ที่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อีกด้วย
“บัตรเกษตรสุขใจ จะมีลักษณะเหมือนกับบัตรสินเชื่อเกษตรกรทุกอย่าง กล่าวคือ มีวงเงินสินเชื่อให้รายละไม่เกิน 30,000 บาท โดยสามารถนำบัตรไปรูดเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์ ยาปราบศัตรูพืช และเครื่องมือการเกษตร เป็นต้น โดยเกษตรกรที่รูดบัตรจะเสียอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติของธนาคารที่ปล่อยกู้ 6-7% ต่อปี”
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ธนาคารมีเกษตรกรถือบัตรสินเชื่อเกษตรประมาณ 1.5 ล้านราย แต่บัญชีที่มีการเคลื่อนจริงๆ ประมาณ 800,000 ราย ซึ่งหากไม่รีบมาเปลี่ยนเป็นบัตรเกษตรกรสุขใจ ก็จะทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสในฤดูกาลผลิตนี้ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว พืชหลายชนิดเช่น ข้าว ต้องลงมือเพาะปลูกได้แล้ว โดยบัตรเกษตรสุขใจนี้ ธนาคารตั้งเป้า หมายจะมีเกษตรกรและสหกรณ์กรการเกษตรใช้บัตรประมาณ 3 ล้านราย
ส่วนสถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรปีนี้ ดีขึ้นเกือบทุกรายการ โดยราคาข้าวเปลือกดีกว่าปีก่อนถึง 20% ข้าวโพด ปีที่แล้วราคา 6-7 บาทต่อกิโลกรัม ปีนี้ขยับเป็น 9 บาทต่อกิโลกรัม และมันสำปะหลังปีที่แล้ว ราคา 2.50 บาทต่อกิโลกรัม ปีนี้ราคาแตะ 4 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคายางพาราก็ปรับสูงขึ้นแล้วมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท จากเดิม 30-40 บาทต่อโลกรับ เป็นต้น
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากราคาพืชผลการเกษตรยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยตรง.