กสิกรชี้ปมการค้าโลกไม่ก่อสงครามการเงินเชื่อจีดีพีไทยโต4.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรฯไม่เชื่อสงครามการค้าจะลุกลามกลายเป็นสงครามการเงิน แต่จะอึมครึมต่อไปอีก 2-4 ปีชี้หากคู่ค้าหลักผนึกกำลังเทขายดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐ จะเสียหายทุกฝ่าย เหตุมูลค่าสินทรัพย์ในมือลดลงอย่างแรง เชื่อยามนี้ยังไม่มีอะไรมาเป็นเงินสกุลหลักแทนที่ดอลลาร์ ระบุแม้โลกได้รับผลพวงจากภาวะสงครามการค้าแต่ภาพรวมการค้าโลกกลับขยายตัวสูงขึ้น
คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังได้รับแรงหนุนทั้งในและนอกประเทศ ดันจีดีพีโต 4.5% ขณะที่ภาคส่งออกขยายเพิ่มเป็น 8.8%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นำโดย ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยฯ แถลง “ทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2561 ท่ามกลางสงครามการค้าโลก” โดยมองภาพสงครามการค้าครั้งนี้จะไม่ขยายผลจนกลายเป็นสงครามการเงินตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เนื่องจากหากมีการโจมตีค่าเงินประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐ โดยเฉพาะจีนและสหภาพยุโรป (อียู) หรือแม้แต่การเทขายดอลลาร์ในตลาดโลก รวมถึงกรณีทางการจีนอาจเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐนั้น เชื่อว่าสิ่งนี้จะไม่ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และจะทำให้รัฐบาลจีน ซึ่งถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไว้เป็นทรัพย์สินจำนวนมาก จะมีมูลค่าต่ำลงไปกว่าเดิม ที่สำคัญในช่วงเวลานี้ คงยังไม่มีเงินสกุลใดมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐได้ หรือแม้แต่การจะกลับไปใช้ทองคำเป็นหลักประกันการค้าของโลกก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
“เชื่อว่าสงครามการค้าครั้งนี้ มาจากปัจจัยการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ เนื่องเพราะใกล้ถึงการเลือกตั้งกลางเทอมช่วงปลายปีนี้ และน่าจะเป็นนโยบายส่วนตัวของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่าจะเป็นนโยบายของพรรครีพับลิกัน เพราะที่ผ่านมาพรรคฯจะเน้นนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการค้าเสรี ซึ่งเรามองว่านโยบาย “อเมริกา เฟิร์สท์” คือ เหตุผลทางการเมือง ที่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ หวังจะกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐอีกสมัยในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2020″
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หาก ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง นโยบายกีดกันทางการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักคงจะผ่อนคลายและยืดหยุ่นมากขึ้น แต่จะไม่เลิกในทันที เพราะเป็นนโยบายที่สร้างคะแนนนิยมให้กับผู้นำสหรัฐมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากภาวะดังกล่าวน่าจะเป็นตัวบั่นทอนการค้าและเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ
ส่วนประเทศไทยนั้น เชื่อว่าสงครามการค้าที่คู่กรณีต่างออกมาตรการทางภาษีกีดกันการนำเข้าจะส่งผลเสียต่อการส่งออกของไทย โดยคาดว่าจะติดลบในเชิงมูลค่าในปีนี้ราว 280-420 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างไรก็ตาม จากปัจจัยหนุนที่ปริมาณการค้าโลกขยายตัวสูงกว่าประมาณการเดิม สิ่งนี้น่าจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกของไทยในเชิงปริมาณเติบโตเฉลี่ยราว 8.8%
สำหรับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า น่าจะเติบโตจากประมาณการเดิมที่ 4.0% เป็น 4.5% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างประเทศที่การค้าขยายตัวสูงขึ้น และปัจจัยภายในประเทศจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งจากการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญนั้น คาดว่าช่วงปลายนี้ก็จะมีการประกวดราคาในโครงการก่อสร้างหลายๆ โครงการสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีอย่างมากต่อระเศรษฐกิจไทย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมช่วงครึ่งปีหลัง นั่นคือ ผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะออกมามากและรายได้ของเกษตรกรที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกนั่นเอง
ส่วนค่าเงินบาทนั้น เชื่อว่าก็น่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าตามไปด้วย และค่าเงินบาทคงจะอ่อนตัวลงไปอีก แต่จะไม่มากและไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก รวมถึงตลาดหุ้นเองที่จะแม้จะได้รับผลกระทบบ้างแต่ก็เป็นไปตามภาวะตลาด.