ก.ล.ต.ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม IOSCO APRC 9-11 มี.ค.64
ก.ล.ต.เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการพัฒนาการกำกับดูแลตลาดทุนในด้านต่าง ๆ การสร้างความร่วมมือ และการจัดการกับความท้าทายสำคัญต่อภูมิภาค นำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกันในระดับภูมิภาค ในรูปแบบ virtual meeting เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2564
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.กล่าวว่า “ก.ล.ต. ไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (International Organization of Securities Commissions Asia-Pacific Regional Committee : IOSCO APRC)ในระดับผู้นำองค์กรในครั้งนี้
ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุม IOSCO APRC ครั้งที่ 2/2562 ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยเป็นอีกครั้งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนนานาชาติต่างให้ความไว้วางใจ ก.ล.ต. ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IOSCO APRC ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญของ ก.ล.ต. ในเวทีสากล โดยการประชุมเป็นช่องทางสำคัญที่ให้ประเทศสมาชิกได้มีโอกาสในการร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการพัฒนาการกำกับดูแลในด้านต่าง ๆ การสร้างความร่วมมือ และการจัดการกับความท้าทายที่สำคัญต่อภูมิภาค นำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือมาตรฐานใหม่ร่วมกันในอนาคต
ในที่ประชุมจะร่วมหารือประเด็นสำคัญ เช่น การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) ความไม่สอดคล้องกันของแนวทางการกำกับดูแลและออกกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ (market fragmentation) และการยกระดับความร่วมมือด้านการกำกับดูแล (supervisory cooperation) สินทรัพย์ดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งรวมถึงมุมมองด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน (digital assets & cryptocurrency) การทำงานแบบระยะไกล (remote working) ความยืดหยุ่นในการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาด (operational resilience) การตรวจสอบการทุจริตและหลอกลวง (fraud and scams) ซึ่งเป็นประเด็นที่ท้าทายจากการระบาดของ COVID-19
ทั้งนี้ ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 เป็นการจัดประชุม EU-Asia Pacific Forum ซึ่งจะมี European Commission (EC) และหน่วยงานกำกับดูแลจากสหภาพยุโรปเข้าร่วมด้วย โดยจะหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลและการพัฒนาตลาดทุนที่ส่งผลกระทบข้ามภูมิภาค เพื่อลดการเกิดความไม่สอดคล้องกันของแนวทางการกำกับดูแล รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเคลื่อนไหวและพัฒนาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นในตลาดทุนของแต่ละภูมิภาค”