SCBบุกPRIVATE BANKINGเป้าสิ้นปี66 มีAUMแตะ1 ลลบ.
SCB PRIVATE BANKING ชูแนวคิด BEAT THE BENCHMARK ขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์สำคัญ มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านไพรเวทแบงก์กิ้งของเมืองไทย ตั้งเป้าภายใน 3 ปี มี AUM แตะ 1 ล้านล้านบาท พร้อมเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า
นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยว่าภาพรวมเวลธ์ทั่วโลกใน 2567 มีแนวโน้มเติบโตกว่าปีละ 7% จากปี 2561 โดยเฉพาะในจีน และกลุ่มเอเชียแปซิฟิค ธุรกิจเวลธ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าทรัพย์สินมีโอกาสเติบโตปีละ 5% โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูงขึ้นไป
ไทยพาณิชย์มองเห็นโอกาสจากการเติบโตของตลาดและจากการเป็นสถาบันการเงินอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ที่มีฐานลูกค้าบุคคลมากกว่า 16 ล้านคน และมีฐานเงินฝากติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ทำให้ไทยพาณิชย์สามารถต่อยอดในการทำธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) และสามารถช่วยวางแผนการเงินให้กับลูกค้าได้เต็มรูปแบบและครบวงจร ที่สำคัญธุรกิจ Wealth Management นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์องค์กรที่สร้างการเติบโตให้กับธนาคารอย่างยั่งยืนทดแทนธุรกิจเดิม
“ตั้งแต่ปี 2560 เราได้ดำเนินการตามแผน Wealth Transformation จนกระทั่งในปี 2563 ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจของ SCB Wealth ทำรายได้โตสวนกระแสทั้งธุรกิจการลงทุนและธุรกิจประกัน สร้างผลกำไรให้กับธนาคารกว่า 15% หรือคิดเป็นสัดส่วน 56% ของรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียม โดยเป้าหมายหลักของธนาคาร คือ ก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าเวลธ์ และเป็นส่วนสำคัญในการรับผิดชอบต่อสังคม ให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินและการลงทุนอย่างเหมาะสม” นายสารัชต์ กล่าวเสริม
นายณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันภาพรวมของ SCB Wealth มีฐานลูกค้าจำนวนกว่า 300,000 ราย โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ลูกค้า SCB PRIME มีสินทรัพย์ 2-10 ล้านบาท กลุ่ม SCB FIRST มีสินทรัพย์ 10-50 ล้านบาท และกลุ่ม SCB PRIVATE BANKING มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป
และเพื่อเป็นการขานรับยุทธศาสตร์องค์กรในการผลักดันธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) เราจึงปรับกลยุทธ์การบริหารธุรกิจเวลธ์ โดยเน้นการสร้างขีดความสามารถในการให้คำปรึกษา (Advisory Capability) ควบคู่ไปกับการปรับ Operating Model พัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันด้านการลงทุนในรูปแบบของ Open Architecture
สำหรับกลยุทธ์หลักของกลุ่มธุรกิจ SCB Wealth ในปี 2564 จะโฟกัสและมุ่งเน้นการเติบโตของเซกเมนต์ไพรเวทแบงก์กิ้ง ด้วยการเปิดตัวโฉมใหม่ของธุรกิจ SCB PRIVATE BANKING กับกลยุทธ์ในการให้คำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญครบวงจรและเต็มรูปแบบ
ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน PRIVATE BANKING ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ปี 2563 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างสูงประกอบกับการแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจ “ไพรเวทแบงก์กิ้ง” ที่แต่ละสถาบันต่างพร้อมใจกันขนโซลูชันทางการเงิน พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความมั่งคั่ง เข้ามาดูแลกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง สำหรับ
SCB PRIVATE BANKING ได้สร้างปรากฏการณ์ในปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) กว่า 850,000 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะ Investment AUM (ไม่รวมเงินฝาก) จะมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 570,000 ล้านบาท และยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าได้สูงถึง 14.9% ในระยะเวลา 1 ปี (1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2563) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนประเภทความเสี่ยงปานกลางตามคำนิยามของ AIMC
ในปี 2564 นี้ SCB PRIVATE BANKING ยึด 3 กลยุทธ์แกนหลักอันเป็นหัวใจสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่
1. Investment Solutions for Wealth Preservation วางแผนต่อยอดความมั่งคั่งส่วนบุคคลให้กับลูกค้า ด้วยทีมที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุนส่วนบุคคลระดับมืออาชีพ
2. Business Solutions for Wealth Creation บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจอย่างครอบคลุมรอบด้าน อาทิ SCB Property Backed Loan สินเชื่อเพื่อใช้ในการบริหารความมั่งคั่ง ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา สำหรับใช้เพิ่มกระแสเงินสด เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกจังหวะการลงทุน
3. SCB Financial Business Group ผสานความแข็งแกร่งของกลุ่มไทยพาณิชย์ ที่ครบเครื่องทั้งด้านความรู้ และความชำนาญเพื่อเปิดกว้างด้านการลงทุน ครอบคลุมเรื่องธุรกิจ เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า โดย SCB PRIVATE BANKING เป็นตัวแทนทุกกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อยกระดับประสบการณ์การบริหารและสร้างความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าในทุก ๆ ช่องทาง