สื่อดิจิทัลเข้าถึงลูกค้ามากสุด/จ่อแย่งงบโฆษณาทีวี-สิ่งพิมพ์
นายกฯโฆษณาดิจิทัล ชี้ช่องรวยให้ผู้ประกอบและเจ้าของสินค้า แนะเกาะติดเทคโนโลยีดิจิทัลที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เผยช่องว่างโฆษณาออนไลน์ในไทยยังต่ำเมื่อตลาดโลก มั่นใจอีกไม่นานแย่งงบโฆษณาจากสื่อทีวีและสื่ออื่นๆ ระบุการตลาดยุคใหม่ต้องพึ่งคอมพิวเตอร์ที่แม่นเรื่องจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลลูกค้าออนไลน์
นายศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Group M (Thailand) และนายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล กล่าวในหัวข้อ”จับทิศ รู้ทาง การตลาดดิจิทัล”ระหว่างร่วมงาน “Digital Marketing สร้างทีมหรือจ้างทำ” จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ว่าเพื่อให้เห็นภาพแตกต่างที่ชัดเจน จึงแบ่งภาพการตลาดยุคดิจิทัลออกเป็น 3 ยุค เริ่มจากยุคแรกในอดีตช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยุคที่คนไทยเริ่มใช้เฟซบุ๊ก มีการถ่ายรูปตัวเอง สินค้า ร้านค้าและบรรยากาศภายในร้าน ก่อนอัพโหลดแล้วนำไปโพสต์ เพื่อให้เกิดการแชร์ภาพต่อๆ กัน
จากจุดนั้น เจ้าของสินค้า/ร้านค้า และนักการตลาดเริ่มมีการทำตลาดผ่านช่องทางนี้ โดยปรับกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าถ่ายภาพและนำไปโพสต์เพื่อโปรโมทร้านค้าและสินค้าของตน ตั้งแต่ปรับแต่งสถานที่ ปรับแต่งแสงสี จัดมุมสำหรับถ่ายภาพ ให้บริการอินเตอร์ฟรี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จำเป็นอยู่เองที่เจ้าของสินค้าต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้พพฤติกรรมของลูกค้าและเป็นฝ่ายที่ต้องเดินไปหาลูกค้า
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการทำการตลาดดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ พบว่า ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 80% ของลูกค้าจะค้นหาข้อมูลสินค้า จากเสิร์ชเอนจิ้นอย่าง google และ 70% หาข้อมูลจากคอมเมนท์ของผู้ซื้อ/ผู้ใช้สินค้าว่ารู้สึกหรือมีความเห็นอย่างไรบ้าง ขณะที่ 60% ใช้มูลข้อมูลที่ได้จากโซเชียลมีเดีย เช่น การรีวิวสินค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อสินค้า
ส่วนภาพปัจจุบัน ทุกอย่างมีการพัฒนาขึ้น คนไทยใช้โซเชียลมีเดียอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยเน้นความบันเทิงและซื้อสินค้า มาเป็นการใช้เพื่อสร้างอาชีพของตัวเอง ซึ่งบางคนใช้เป็นช่องทางของอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่ม แต่บางคนใช้เป็นช่องทางหลักของอาชีพที่ทำอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบหรือเจ้าของสินค้าจึงต้องปรับตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงนี้ หลักการสำคัญคือ ต้องรู้ว่าข้อมูลอะไรที่ลูกค้าต้องการจะรู้? และจะหาข้อมูลที่ได้จากแหล่งไหน? เมื่อรู้แล้วจะไปดักหรือปรับเปลี่ยนความคิดของลูกค้าได้อย่างไร?
“ถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ตรงจุด หรือใกล้เคียงกับพฤติกรรมของลูกค้ามากที่สุด เราก็จะตอบโจทย์และสร้างเครื่องมือทางการตลาด รวมถึงผลิตงานโฆษณา และเลือกช่องทางการสื่อสารถึงลูกค้าได้ตรงจุด เข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ และโอกาสความสำเร็จก็มีสูง”
นายศิวัตร ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของภาพอนาคต ซึ่งทุกวันนี้รายใหญ่ก็เริ่มมีการนำสิ่งนี้มาใช้กันบ้างแล้ว โดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ต การโพสต์ การแชร์ การสั่งซื้อสินค้า และอื่นๆ ของลูกค้า เพื่อใช้เป็นข้อมูลวางแผนการตลาด พร้อมยกตัวอย่าง แค่การดูหรือสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพียงครั้งเดียว คอมพิวเตอร์จะจัดเก็บและคอยประมวลในพฤติกรรมของลูกค้าคนนั้น และจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการทำตลาดยุคออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดต่อไป
ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ทั่วโลกใช้จ่ายงบโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัล (ออนไลน์) สูงถึง 40% ขณะที่งบโฆษณาผ่านช่องทางทีวีมีเพียง 36% และมีแนวโน้มว่ายอดใช้จ่ายโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลจะเพิ่มสูงยิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับประเทศไทยแม้ตัวเลขการใช้จ่ายเงินโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลมีเพียง 14% แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นสูงตามแนวโน้มหรือทิศทางของโลก ละนั่นจะเป็นโอกาสของเจ้าของสินค้าและผู้ประกอบที่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันการตลาดยุคดิจอทัลให้ได้โดยเร็วที่สุด.