ทบ.ดึงจีนขุดแร่ควอตซ์ผลิตแผงโซลาร์กระตุ้นเศรษฐกิจ
กองทัพบก รุก!พลังงาน อ้างเป็นหนึ่งในงานด้านความมั่นคงของชาติ ผอ.ช่อง 5 “พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์” ยัน! ไทยมีสายแร่ควอตซ์คุณภาพสูง พร้อมดึงรัฐบาลจีนร่วมทุน ผลิตป้อนแผงโซลาร์ฯ สร้างพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เชื่อเม็ดเงินลงทุน 6 แสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนี้ได้แน่ ช้าสุด! ชงเรื่องให้ นายกฯลุงตู่ พิจารณา ต้น เม.ย.นี้
พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กก.ผอ.ใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในฐานะ ตัวแทนกองทัพบก ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจไทยให้ยิ่งมีปัญหามากขึ้น การฉีดวัคซีนโควิดฯเป็นเพียงจิตวิทยา ไม่น่าจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาไวรัสโควิดฯมากนัก เพราะที่สุด ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับไวรัสฯนี้เอง แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าไวรัสโควิดฯจะสิ้นสุดเมื่อใด ส่วนตัวเชื่อว่าเร็วสุดน่าเกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีจากนี้
ระหว่างนี้รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป เพราะการเยียวยาประชาชนด้วยการแจกเงินผ่านโครงการคนละครึ่ง หรือเราชนะ ก็ไม่น่าจะส่งผลอะไรได้มากนัก เนื่องจากเม็ดเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยเกินไป ขณะเดียวกัน เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคของประชาชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว หรือไม่แต่การใช้จ่ายภาครัฐเอง ก็เริ่มจะมีปัญหา เนื่องจากแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจข้างต้น
ทางออกในมุมมองของกองทัพบก คือ รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยใช้ศักยภาพที่ประเทศไทยมี ซึ่ง ตนขอพูดในฐานะตัวแทนของกองทัพบก ว่า การที่ประเทศไทยมีสายแร่ควอตซ์คุณภาพสูง ที่พาดผ่านตั้งแต่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ลากยาวไปถึง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี และเท่าที่มีการสำรวจเบื้องตน คาดว่าจะมีปริมาณแร่ควอตซ์เป็นจำนวนมากพอจะนำไปผลิตแผงโซลาร์เซล เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนเมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก
ทั้งนี้ กองทัพบก โดย พล.อ.รงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. มีแผนจะนำผู้บริหารของกองทัพบกและตน ในฐานะ “ต้นเรื่อง” เพื่อเข้าพบและนำเรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาถึงหลักการ เหตุผลและความจำเป็น เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในโอกาสต่อไป โดยระหว่างนี้ กองทัพบกอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานทั้งระบบ เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณา คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมหรือต้นเมษายนนี้
พล.ท.รังษี กล่าวอีกว่า รัฐบาลจีนคือเป้าหมายหลักที่จะเชิญมาร่วมผลิตแร่ควอตซ์ในลักษณะ Profit Sharing หรือการแบ่งปันผลกำไรจากการลงทุน โดยฝ่ายไทย คือ รัฐบาลไทยไม่ต้องลงทุนเรื่องเงิน เป็นรัฐบาลจีน หรือรัฐวิสาหกิจของจีนที่จะเป็นฝ่ายลงทุนในวงเงิน 6 แสนล้านบาท กำหนดสัดส่วนผลประโยชน์ ฝ่ายไทย 40% จีน 60% โดยอาจเปิดให้ภาคเอกชนไทยได้เข้าร่วมโครงการนี้ หรือโครงการต่อเนื่อง เช่น การผลิตแบตเตอรี่สำรอง เป็นต้น โดยขณะนี้ มี บมจ. ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) บมจ.บางจาก และรายอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว
“กองทัพบกมองไปที่รัฐบาลจีน เพราะเขามีทั้งเงินลงทุน มีเทคโนโลยีการผลิต และประสบการณ์มาก่อน อีกทั้งยังมีตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้า (แผงโซลาร์เซลล์) ได้เป็นจำนวนมาก โดยเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการราว 6 แสนล้านบาท น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งหากกองทัพบกสามารถเสนอแผนงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พิจารณาและเห็นชอบกับแนวทางที่จะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือเมษายน โดย พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ และจะเริ่มผลิตแร่ควอตซ์ออกมาได้ในช่วงปลายปี 2565” พล.ท.รังษี ระบุและว่า
การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตแร่ควอตซ์รายใหญ่ของโลก กระทั่งสามารถจะนำไปผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอยในช่วง 3-4 ปีนับจากนี้ได้ และเมื่อเศรษฐกิจโลกและของไทยกลับสู่ภาวะปกติ การท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบัน ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาผลิตกระแสไฟฟ้า และต้องสูญเสียรายได้จากการนำเข้าแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะตอบโจทย์เรื่องการลดปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กับการเฟื่องฟูได้เหมือนที่เคยเป็น โดย กองทัพบก ซึ่งถือครองที่ราชพัสดุทั่วประเทศมากถึง 4 ล้านไร่ พร้อมให้ กฟผ. ปตท. และเอกชน ที่สนใจจะลงทุนสร้างโซลาร์ฟาร์มเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อการนี้ และหากเอกชนต้องการจะขายหุ้นในธุรกิจนี้ เชื่อว่ารัฐบาลก็พร้อมจะออกพันธบัตรเพื่อซื้อคืนหุ้นดังกล่าวอย่างแน่นอน
“คาดว่าจะใช้พื้นที่จัดทำโครงการโซลาร์ฟาร์มราว 2.4 แสนไร่ โดยทุกๆ 8 ไร่ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 1 เมกะวัตต์” พล.ท.รังษี กล่าวและว่า
การที่รัฐบาลจะปรับแผนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากแผนทุกแผนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาและตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากหน่วยงานไหนจะมาอ้างว่าแผน PDP ปรับเปลี่ยนไม่ได้นั้น ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะทหารวันนี้ มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและพลังงานได้ไม่น้อยกว่าหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง
แต่ที่มีมากกว่าคือ ความเข้าใจในปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาด้านพลังงานก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านความมั่นคง ที่กองทัพบกจะต้องลงมาดูแลแบบใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา เหมือนเช่นเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ จากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อปี 2540
“เรื่องพลังงานและการเกษตรเป็น 2 เรื่อง ที่กองทัพบกมองว่าเป็นงานความมั่นคงที่รัฐบาลจะต้องมีให้กับประชาชน” ตัวแทนกองทัพบกย้ำ.