“ทรีนีตี้”คัด 13 หุ้น น่าลงทุน ปลอดภัยจาก Bond yield พุ่ง!!
“ทรีนีตี้”แจกคัมภีร์ลงทุนหุ้นเดือน มี.ค.คัด 7 กลุ่ม 13 หุ้นปลอดภัยรับ Bond yield ขาขึ้น แนะกลยุทธ์ ขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบ ประเมินแนวต้านสำคัญที่ 1,540 จุด ส่วนแนวรับแรกมองที่ 1,480 จุด และแนวรับสำคัญมองที่ 1,450 จุด
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยทิศทางการลงทุนเดือน มี.ค.ว่า มองว่าตลาดหุ้นไทยจะผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเติบโตเช่น สหรัฐฯ และเอเชียเหนือ ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ Sensitive ต่อการปรับเปลี่ยนของ Bond yield
“ดัชนีที่แนวรับ 1,450 – 1,480 จุด จะเป็นบริเวณดัชนีที่สามารถเข้าซื้อเพื่อรองรับกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ภายนอกได้ โดยเฉพาะประเด็นการปรับตัวสูงขึ้นของ Bond yield ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ประเมินแนวต้านสำคัญของดัชนีในเดือนนี้ที่ 1,540 จุด ซึ่งจะเป็นระดับที่ทำให้ค่า Earning yield gap ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงสู่ระดับ -1SD สะท้อนถึงความตึงตัวในมิติ Valuation หากเห็นระดับดังกล่าว แนะนำเน้นขายทำกำไรออกมาก่อน” นายณัฐชาต กล่าว
สำหรับธีมการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ Bond yield พุ่งแรง และคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น แนะนำลงทุนใน ธีม Reflation / Recovery / Reopening โดยจะต้องเป็นหุ้นที่ยังคงซื้อขายด้วย Valuation (PE) ในระดับต่ำด้วย เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีค่า Earning yield gap ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย จึงสามารถทนทานต่อความเสี่ยงที่ Bond yield อาจปรับสูงขึ้นอีก
ทั้งนี้หุ้นที่น่าสนใจใน 7 กลุ่ม 13 หุ้น มีดังนี้ 1.กลุ่ม Hard commodities หุ้นที่เลือกคือ PTTGC, TOP, SPRC, ESSO 2.กลุ่ม Soft commodities หุ้นที่เลือกคือ STA 3.กลุ่มธนาคารหุ้นที่เลือกคือ KBANK, BBL 4.กลุ่มอาหารหุ้นที่เลือกคือ CPF, TU 5.กลุ่มอสังหาฯ หุ้นที่เลือกคือ AP, ORI 6.กลุ่มเดินเรือ หุ้นที่เลือกคือ RCL 7.กลุ่มสินค้า Consumer หุ้นที่เลือกคือ STGT
“Bond yield ที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น เรายังคงมุมมองเป็นกลางและไม่ได้เป็นกังวลมากนัก เนื่องจากความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบหลายช่วงในอดีต ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐ ฯ ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลต่อการเข้มงวดนโยบายการเงินของ Fed เช่นกัน จึงมองเหตุการณ์ปัจจุบันยังคงห่างไกลกับสภาวะ Bond shock ในอดีต ที่มักมาพร้อมกับการปรับฐานของตลาดหุ้นครั้งใหญ่ ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในหุ้นยังคงเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไปได้ ตราบใดที่ Bond yield สหรัฐฯ รุ่น 10 ปียังปรับขึ้นไม่ถึงระดับ 2.0% และคาดการณ์เงินเฟ้อ 10 ปี ของสหรัฐฯ ยังไม่แตะระดับ 2.5%” นายณัฐชาต กล่าว
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของเดือนมี.ค.นี้ น่าจะเริ่มเป็นช่วงเวลาที่ดีของหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น หลังจากปรับตัว Underperform หุ้นขนาดกลาง-เล็ก มาตลอดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติน่าจะเริ่มหมดลง หลังผ่านพ้นการปรับตะกร้าของดัชนี FTSE ที่มีการลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทยในรอบนี้ ประกอบกับในแง่ของปัจจัยพื้นฐานเริ่มเห็นประมาณการกำไรของหุ้นใหญ่ทรงตัวได้แล้ว จึงเป็นที่มาที่หุ้นแนะนำส่วนใหญ่ประจำเดือนนี้ค่อนข้างโน้มเอียงไปยังหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า