กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.15-30.50บาท/ดอลล์
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 30.15-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตาตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.15-30.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 30.12 บาท/ดอลลาร์ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯทะยานขึ้นแตะระดับก่อนวิกฤติโรคระบาด
ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)แถลงต่อคณะกรรมาธิการสภาคองเกรส โดยไม่พูดถึงความเสี่ยงจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร แต่แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงและยังคงต้องใช้เวลา อีกทั้งเฟดจะยังคงให้ความสำคัญกับการเยียวยาตลาดแรงงาน นอกจากนี้ เฟดจะส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนที่จะปรับนโยบายในอนาคต ประธานเฟดระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงถูกตรึงไว้ที่ระดับต่ำและเฟดจะเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตราอย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือนต่อไป
อย่างไรก็ดี ท้ายสัปดาห์นักลงทุนยังคงลดพอร์ตสินทรัพย์ทางการเงินหลายประเภท รวมถึง หุ้น และทองคำ เพื่อรอดูสถานการณ์ในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย มูลค่า 10,300 ล้านบาท และ 1,400 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในเดือนก.พ. เงินบาทอ่อนค่า 0.5% เกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค
ซึ่งตลาดโลกจะให้ความสนใจกับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญหลายรายการของสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีภาคบริการ และการจ้างงานนอกภาคเกษตร หลังประธานเฟดเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจยังคงอยู่ห่างไกลจากการบรรุลเป้าหมายของเฟดในด้านการจ้างงานและภาวะเงินเฟ้อ อนึ่ง กรุงศรีมองว่า เพียงความเห็นจากเฟดนั้นไม่พอที่จะลดความปั่นป่วนในตลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงท่าทีที่ค่อนข้างแตกต่างจาก ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)และธนาคารกลางออสเตรเลียซึ่งระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น
ขณะที่นักลงทุนอาจต้องการมาตรการเพิ่มเติมที่เป็นรูปธรรมจากเฟดในการรักษาเสถียรภาพของตลาดพันธบัตร โดยหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯยังผันผวนสูง เราคาดว่าค่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อไปในช่วงสั้นๆ
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ขณะที่ธปท.ได้รายงานว่าการบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานเดือนม.ค.ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ส่วนการส่งออกที่ไม่รวมทองคำขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยหมวดสินค้าส่งออกที่เติบโตได้ดี ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตรแปรรูป รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์