สิ้นหวัง?! โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กลายเป็น ความหวังจางๆ ของเกษตกร เมื่อมีการปรับ รื้อ โครงการใหม่ มี.ค. นี้ คือ กำหนด เปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า แต่จะวันไหน เมื่อไหร่ นั้น
ยังคงต้องลุ้น…กันต่อไป
หลังจากปรับ รื้อ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากแผนเดิมที่จะรับซื้อไฟฟ้า โดยแบ่งเป็นประเภท Quick Win ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ รวม 700 เมกะวัตต์
และแล้วก็ถูกหั่นให้เหลือเพียง โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์
แบ่งเป็นเชื้อเพลิงจาก ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ และ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25 %) มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ในราคารับซื้อไฟฟ้า 4.26 – 4.84 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี
ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 16 พ.ย.63 ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ก็ได้เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงพลังงาน นำเสนอนี้
ซึ่งจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ
และกำหนดกรอบระยะเวลาในการขับเคลื่อน โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ปี2564 ไว้ดังนี้
เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2563 กระทรวงพลังงาน จะทำความเข้าใจกับเอกชน-วิสาหกิจชุมชน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไข โรงไฟฟฟ้าชุมชน
เดือน ม.ค. 2564 เตรียมออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน
เดือน ก.พ.2564 เปิดยื่นประมูลแข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า (Competitive Bidding)
ต้นเดือน เม.ย.2564 ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
พร้อมกับมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบ หรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ตามเงื่อนไขใหม่
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. ได้บอกว่า เบื้องต้น กกพ.ได้ร่างระเบียบฯแล้ว และยังอยู่ระหว่างการสอบถามข้อมูลไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ต้องเข้าข่ายจัดทำ ระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 หรือไม่
เนื่องจาก กรอบหลักเกณฑ์ของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ภาครัฐได้กำหนดต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิงโดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming)
ดังนั้นในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงานคุณสมบัติของพืชพลังงานและราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญาด้วย
ซึ่งพืชพลังงานที่จะนำมาใช้จะต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกร อย่างน้อย 80% อีก 20% ผู้ประกอบการสามารถจัดหาเองได้
นายคมกฤช ยังบอกอีกว่า ถ้าเข้าข่ายเกษตรพันธสัญญาก็ต้องทำตาม พ.ร.บ. แต่จะไม่กระทบกับแผนออกร่างระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าที่คาดว่า จะดำเนินการได้ในช่วงประมาณเดือน ก.พ. 64 และเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอโครงการฯต่อไป
สำหรับไทม์ไลน์เบื้องต้นที่ กกพ.กำหนดไว้ คือ จะเปิดรับข้อเสนอโครงการฯในเดือน มี.ค. 2564 จากนั้น เม.ย. จะเปิดข้อเสนอด้านราคา และรู้ผลผู้ชนะประมูลช่วง พ.ค.-มิ.ย. 2564 ต่อไป
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา บอร์ด กกพ.ได้พิจารณาไทม์ไลน์เบื้องต้น ดังนี้ เดือน มี.ค. 2564 จะเริ่มเปิดรับข้อเสนอโครงการ โดยให้เวลายื่นข้อเสนอประมาณ 5-7 วัน และจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบข้อเสนอทางเทคนิค และในเดือน เม.ย. 2564 จะเปิดข้อเสนอด้านราคา คาดว่าในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 จะประกาศผู้ชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
ล่าสุดระหว่างวันที่ 21 ม.ค. – 4 ก.พ. 2564 กกพ. ได้ออกประกาศรับฟังความเห็น “ร่างระเบียบการจัดหาไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)” และ “ร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทางเว็บไซต์ของ กกพ. ที่ http://www.erc.or.th เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็น เพื่อปรับแก้ไขระเบียบอีกครั้ง…
หากเป็นไปตามกำหนดเดิมที่วางไว้คาดว่า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-2 เม.ย. 2564
ต้องบอกกันอย่างตรงไปตรงมาว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ไม่คึกคัก เหมือนช่วงแรกที่เปิดโครงการ
สิ่งหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ เป็นเพียง โครงการนำร่อง จำนวนรับซื้อไฟฟ้าน้อย อีกสิ่งหนึ่งคือ โอกาสที่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน จะได้เข้าร่วมในการจำหน่ายพืชพลังงานที่นำไปใช้ผลิตไฟฟ้าก็น้อยเช่นกัน
งานนี้จึงดูว่า ไม่คึกคัก เพราะ เกษตรกร เขาสิ้นหวัง กับ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน!!!