อภิปรายไม่ไว้วางใจ สะท้อน น้ำยา “ฝ่ายค้าน”
อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ได้อย่างไม่สมศักดิ์ ไร้ซึ่งข้อมูลใหม่ๆ
ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 2 โดยฝ่ายค้านอภิปราย 10 รัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม
ผลปรากฎว่า 10 รัฐมนตรี สอบผ่านไปได้ฉลุย สบายๆ โดยผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ เสี่ยหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้คะแนนไว้วางใจ 275 ต่อ 201 เสียง
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้คะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 206 เสียง ส่วน พี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้คะแนนไว้วางใจ 274 ต่อ 204 เสียง
ผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ ครูตั้น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้คะแนนไว้วางใจ 258 ต่อ 215 เสียง
สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการอภิปรายครั้งที่แล้ว ได้คะแนนน้อยที่สุด โดยการอภิปรายครั้งนี้ ได้คะแนนไว้วางใจ 274 ต่อ 199 เสียง ถือว่ามากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เท่ากับ พล.อ.ประวิตร
อย่างไรก็ตาม ตลอด 4 วันของการอภิปราย สิ่งที่เห็นคือ ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ไม่สมศักดิ์ ถือว่าไม่คุ้มค่าราคาคุย เพราะเนื้อหาในการอภิปรายส่วนใหญ่นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายเรื่องเป็นข้อครหาเก่าที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรแล้วหลายครั้ง ขณะที่หลายประเด็นเป็นการหยิบยกจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ขึ้นมาอภิปราย หาใช่ข้อมูลใหม่ที่ขุดคุ้ยขึ้นมาด้วยตัวเอง
โดยส่วนใหญ่ยังพบว่า เป็นการอภิปรายแบบโจมตีกัน สร้างวาทกรรมทางการเมือง มากกว่าการนำเสนอข้อสังเกต พบสิ่งพิรุธ หรือเปิดโปงการทุจริต ประพฤติมิชอบของรัฐมนตรี อันจะนำมาซึ่งการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถจัดการกับรัฐบาลได้ในที่สุด
เช่น การอภิปรายการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ โดย “นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ทั้งที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ เน้นงานด้านเศรษฐกิจ และนายมิ่งขวัญ ก็มีความเชี่ยวชาญชำนาญงานด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดี
แต่ทว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายมิ่งขวัญ กลับแต่มีถ้อยคำการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล และ วิจารณ์การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจว่าล้มเหลว แต่หามีข้อมูลใหม่ๆไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงการหยิบกระแสดราม่าขึ้นมาวิจารณ์รัฐบาล
ส่วนทางพรรคเพื่อไทย ตัวจี๊ดอย่าง “โจ้” ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในหัวข้อ มหากาพย์การโกง ข้ามศตวรรษ ถึงปี 2602 จากบ้านหลวง สู่ ม.44 ยกสัปทานรถไฟฟ้าหลวงให้เจ้าสัว
กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ รู้เห็นเป็นใจ แบ่งแยกหน้าที่กระทำความผิด โดยยกขยายสัปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ BTS โดยไม่ผ่านการประมูลใหม่ ถึงปี 2602 เป็นเวลา 40 ปี ขัดกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขับกับมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)
แม้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ก็เป็นเรื่องเก่าที่มีการพูดในที่สาธารณะแล้วหลายครั้ง จึงทำให้ข้ลมูลที่ผู้อภิปรายเอามานำเสนอนั้น ดูจะจืด ไม่น่าติดตาม
เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่การอภิปรายรอบนี้ไม่สดใหม่เหมือนการอภิปรายในรอบก่อน ที่มีการเปิดปฏิบัติการ IO ของกองทัพ สร้างแรงสั่นสะเทือนในโลกโซเชียลได้เป็นอย่างดี
ส่วนในการอภิปรายรอบนี้ ก็มีการเปิดโปงปฏิบัติการ IO ภาค 2 ทว่า เนื้อหาและสาระ ก็ไม่เข้มข้นเท่ารอบแรก
เนื่องจากการอภิปรายส่วนใหญ่ ใช้ข้อมูลหลักจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และหลายข้อมูลล้วนถูกอภิปรายในสภามาแล้ว จึงเป็นเรื่องง่ายของรัฐบาลในการตอบคำถาม ซึ่งโดยส่วนใหญ่ตอบได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ตอบไม่ได้
เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ตอบอภิปรายของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ถึงการแต่งตั้งคนสนิท เป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. จากคนธรรมดา สู่ตำแหน่งข้าราชการระดับสูง
โดยเป็นการตอบคำถามแบบไม่เคลียร์ว่า “พ่อ แม่ พี่น้องเขาเป็นครู มันเกี่ยวอะไรกับผม เราต้องการบริหารจัดการ สกสค.เพื่อให้เงินทั้งหมดกลับไปอยู่ในมือของครู เชิญท่านตรวจสอบวันนี้เลยว่า มีการเอาเงินครู หรือการทุจริตในช่วงปีกว่าๆนี้หรือไม่ ผมยืนยัน ได้เลยว่าไม่มี เพราะผมต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการมีความโปร่งใส เป็นขวัญและกำลังใจให้บุคลากร”
และนี่คงเป็นเหตุผลใดหนึ่งที่ทำให้นายณัฎฐพล ได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด
โดยสรุป สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ เมื่อเทียบกับการอภิปรายครั้งที่แล้ว ต้องถือว่าการอภิปรายครั้งที่แล้ว มีความเข้มข้น น่าสนใจมากกว่าหลายเท่า แต่ครั้งนี้ ฝ่ายค้าน ทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ไม่สามารถชี้ให้ประชาชนเห็นได้ว่า รัฐบาลมีข้อเสีย บกพร่อง และไม่สมเหตุสมผลกับการอยู่ในตำแหน่งต่อไปอย่างไร