ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ เคลื่อนไหว กู้ศรัทธา “เพื่อไทย”
พรรคเพื่อไทย เคลื่อนไหว เหมือนเตรียมพร้อมเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ ลุยเอง หวังสร้างความนิยมเหมือนแต่ก่อน
พรรคเพื่อไทยเปิดตัวโครงการ “The Change Maker” นวัตกรรมทางการเมืองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผนึกกำลังกับผู้มากประสบการณ์และคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์นโยบายออกแบบอนาคต
สะท้อนว่าพรรคเพื่อไทย เตรียมความพร้อมแล้ว สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ไม่รู้ว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ ทว่าสร้างการสร้างกระแสไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมจะสร้างความได้เปรียบในอนาคต
โครงการ “The Change Maker” มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี เป็นที่ปรึกษาโครงการ ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นที่ปรึกษาด้านหลักสูตรของโครงการ พร้อมอดีตขุนพลพรรคไทยรักไทยมากหน้าหลายตาเข้าร่วมอย่างคับคั่งมี
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง คือ กลุ่ม “CARE คิด เคลื่อน ไทย” ในพรรคเพื่อไทย จัดงาน Care Talk หัวข้อ “คนไทยไร้จน : ฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง” โดย มีวิทยากร ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายดวงฤทธิ์ บุนนาค นายศุภวุฒิ สายเชื้อ สมาชิกและผู้ประสานงานกลุ่ม CARE นายปราชญ์ ปัญจคุณาธร นักศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นายรัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตข้าราชการระดับสูง กระทรวงการต่างประเทศ เจ้าของเพจเฟซบุ๊กทูตนอกแถว และน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน
ที่สร้างความฮือฮา คือ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี โผล่พูดผ่านคลิปวิดีโด โดยเสนอแนวทางการแก้ไขความจน 3 ประการ
1. Political support : แรงสนับสนุนทางการเมือง
บอกว่าสมัยตนเป็นรัฐบาลได้ประกาศสงครามกับความยากจน ฝ่ายการเมืองสนับสนุนเต็มที่ และทุ่มทรัพยากรทุกอย่างเพื่อทำสงครามในวันนั้น ถ้าวันนี้รัฐบาลปัจจุบันจะทำสงครามกับความยากจนบ้าง ก็ให้ซื้ออาวุธเตรียมทำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เทคโนโลยี แหล่งทุน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ไม่ใช่ รถถัง
2. Leadership : ภาวะผู้นำ
ผู้นำประเทศอยากแก้ปัญหาความยากจนหรือไม่ มีความมุ่งมั่นหรือไม่ ถ้ามีความมุ่งมั่น ผู้นำต้องลงมาเล่นเอง ต้องทุ่มสุดตัวเหมือนที่ผมเคยทำ
3. Know-how : ความรู้
ต้องมีความรู้ในการแก้ไขปัญหาจริงๆ ถ้าขาดความรู้ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหานั้นจะคิดแบบเดิมไม่ได้ อาจจะปรับใช้ได้ แต่ลอกมาทั้งหมดไม่ได้
ทักษิณ อธิบายแนวทางการแก้จนในยุคของเขา 3 หลัก คือ
1. ลดรายจ่าย : สอนชาวบ้านทำบัญชีครัวเรือน เพื่อดูว่ารายจ่ายตรงไหนตัดได้บ้าง
2. เพิ่มรายได้ : มีโครงการ OTOP โดยรัฐบาลจะช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงหาตลาดให้ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
3. ขยายโอกาส : ให้คนจนสามารถตั้งตัวได้ และมีโอกาสเติบโต่อไป
ทักษิณ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังดูเรื่อง ปัจจัย 4 โดย อาหารและเครื่องนุ่งห่มนั้น ถ้าคนมีรายได้ก็ไม่มีปัญหา ส่วนยารักษาโรค รัฐบาลได้ทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเพื่อช่วยเหลือ และสุดท้ายคือที่อยู่อาศัย รัฐบาลได้ทำบ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคงให้คนจนได้มีบ้านเป็นของตัวเอง
ทักษิณ กล่าวว่า ในปัจจุบันคิดแค่นี้ยังไม่พอ เพราะโลกไปไกลแล้ว ความรู้ใหม่มีเพิ่มขึ้นตลอด เราก็ต้องมีคิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง UBI (รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า) หรือ NIT (Negative Income Tax) ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านกลไกภาษี โดยใครมีรายได้สูงก็จ่ายภาษีตามปกติ ส่วนใครมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สามารถอยู่อย่างมนุษย์ได้ รัฐบาลต้องใช้ NIT เข้าไปช่วย เพราะคนไทยทุกคนเสียภาษีเหมือนกันหมดไม่ว่ารวยหรือจน
นอกจากนี้ เราต้องตัดวงจรอุบาทว์ด้วยการศึกษาแบบใหม่ การศึกษาต้องปรับใหม่ ต้องทันโลก เพราะโลกยุคใหม่ไม่สนใจใบปริญญา สนใจแต่ skill (ความสามารถ) ดังนั้น ต้องให้ เสรีภาพในการศึกษา ผสมกับการเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปให้ถึงมือชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ หุ่นยนต์ต่างๆ เพราะโรงงานใช้หุ่นยนต์หมดแล้ว จะให้คนจนไปใช้แรงงานเป็นกรรมกรแบบเดิมไม่ได้ ต้องฝึกทักษะใหม่ทั้งหมด เราต้องคิดตั้งแต่วันนี้ ถ้าไม่คิดตั้งแต่วันนี้ แม้แต่ชนชั้นกลาง ก็จะร่วงกลายเป็นคนจนในที่สุด ถึงเวลา คิดล่วงหน้า ตามให้ทันโลก
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความสนับสนุนโครงการ ‘THE CHANGE MAKER’ เพราะว่าเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้มีพื้นที่ ในการแสดงความคิดเห็น เพื่อเสนอทางออก และ แนวทางในการแก้ปัญหาประเทศ ซึ่งเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี ที่เพื่อไทยได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ซึ่งในปัจจุบันแทบไม่มีพื้นที่ หรือเปิดพื้นที่ในการแสดงออกหรือรับฟังปัญหาจากประชาชน
ยิ่งลักษณ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชนก็ต้องหาวิธีที่จะสามารถช่วยกันผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาและข้อเสนอของประชาชน ซึ่งในโครงการนี้จะมีการคัดความคิดที่เป็นประโยชน์และมาหาทางแก้พร้อมลงพื้นที่ปฎิบัติ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนจากรับฟังแค่เพียงอย่างเดียวลงไปสู่การปฎิบัติหรือแก้ปัญหาจริง
“ดิฉันขอถือโอกาสนี้สนับสนุนโครงการที่ตอบโจทย์ประเทศในสถานการณ์ปัจจุบัน ตอบสนองปรัชญาและแนวทางที่เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนี้ค่ะ และดิฉันอยากเห็นคนออกมาช่วยแสดงความคิดกันเยอะๆ เพราะถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันคิดและหาทางออกด้วยกัน เพื่อให้ประเทศของเราก้าวทันหลายๆประเทศเหมือนอย่างที่เราเคยเป็นมาในอดีต”
ยิ่งลักษณ์ ทิ้งท้ายว่า เราจะไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาของประเทศ เราจะไม่ท้อกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เราจะ ช่วยกันให้ ประเทศไทยของเราหลุดพ้นจากวิกฤติไปด้วยกัน ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน