ธนารักษ์แจงปมบ้านมั่นคง ชี้!ทำเพื่อทุกฝ่าย
กรมธนารักษ์ชี้แจงปม “พี่ศรีฯ ยอดนักร้อง” ยื่น ป.ป.ช. หวังเอาผิดกรณีแสวงหาประโยชน์ให้เช่าที่ราชพัสดุก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคง พร้อมตอบทุกข้อกล่าวหา! ยืนยัน ไม่มีการถมคลองสาธารณะตามธรรมชาติ เหตุเป็นคลองขุดสมัย ร.5 ส่วนประเด็นให้เช่าโดยมิชอบ ข้อเท็จจริงคือ ทำตามมติครม. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ย้ำ! ได้บูรณาการทุกหน่วยงาน สร้างประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตั้งแต่คุณภาพชีวิตของชาวบ้านยันแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ
กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สรุปชี้แจ้งกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากพื้นที่ทุ่งรังสิต มายื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. โดยมีเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ทหารและหน่วยงานทางราชการหลายหน่วยงาน ได้มากดดันชาวบ้านริมคลองเปรมประชากร บริเวณชุมชนวัดรังสิต ให้รื้อถอนบ้านเรือนของตนที่ปลูกสร้างริมคลองออกไป แล้วทำการถมที่ดินรุกล้าเข้าไปในคลองกว่า 30 เมตร จนทำให้คลองเปรมประชากร จากที่เคยมีสภาพความกว้างกว่า 50 เมตร คงเหลือไม่ถึง 20 เมตร แล้วกรมธนารักษ์ได้นำพื้นที่ดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ โดยการให้เช่าก่อสร้างบ้านมั่นคง นั้น
กรมธนารักษ์ขอเรียนสรปุความเป็นมาของโครงการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่คลองเปรมประชากร ดังนี้
1. คลองเปรมประชากรเป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชสมัยของ สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2413 – 2415 เป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าด้วยกัน โดยเริ่มจาก คลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพฯ ไปทะลุตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยพระราชทรัพย์สินส่วนพระองค์และได้พระราชทานนามคลองนี้ว่า “คลองเปรมประชากร” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าที่ดินในบริเวณทุ่งเชียงรากน้อยและบางเหี้ยตอนใต้มีปริมาณกว้างขวางใหญ่โต ถ้าได้ขุดคลองทดน้ำส่งน้ำให้สืบลงมาได้จากแควป่าสักแล้ว จะเป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูกและสะดวกแก่กิจการของสาธารณชนทั่วไป จึงทรงมีประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและ จัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ย พ.ศ.2467 โดยกำหนดไว้ตาม ข้อ 9 คลองเปรมประชากร กว้างฝั่งละ 1 เส้น (หรือ 20 วา ) ดังนั้น คลองเปรมประชากร จึงมีแนวเขตคลอง กว้าง 80 เมตร ใช้ประโยชน์ในราชการกรมชลประทาน (กระทรวงเกษตราธิการ) มาแต่เดิม
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เห็นชอบข้อเสนอการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้าง รุกล้ำลำน้ำสาธารณะตามข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยให้ กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ร่วมกันดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่บุกรุกล้ำน้ำสาธารณะ รวมทั้งต้องไม่ออกใบอนุญาตให้กับอาคารสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะดำเนินการทุกประเภท ที่ตรวจสอบว่ามีการบุกรุกลำน้ำสาธารณะด้วย นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พิจารณาจัดหาที่พักอาศัยถาวรให้กับผู้บุกรุก
3. ปี 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านสังคม ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการกำหนดมาตรการจัดระเบียบและ แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด รวมทั้งการจัดหาที่อยู่อาศัยถาวรให้แก่ผู้รุกล้ำคูคลอง และทางระบายน้ำ
4. ต่อมาในปี 2558 รัฐบาลกำหนดนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ และการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยให้ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่ผู้อยู่อาศัยตามแนวคูคลองและทางระบายน้ำ โดยมีโครงการ นำร่องในพื้นที่คลองลาดพร้าวและบางซื่อก่อนเป็นลำดับแรก ในการนี้ กรมธนารักษ์ พอช. และสำนักการ ระบายน้ำ ได้บูรณาการความร่วมมือดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนริมคลองภายใต้กรอบ โครงการบ้านมั่นคง ตามบันทึกความร่วมมือด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยของชุมชนริมคลองผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในที่ดินราชพัสดุ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ให้มีความมั่นคงและมีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดีขึ้น ประการสำคัญเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เน้นการดำเนินการโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย พอช. กำหนดมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาการชุมชนแออัด รวมทั้งการจัดหาที่อยู่อาศัยถาวรให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน จำนวน 4,000 ล้านบาท พอช.จัดทำแผนการแก้ไขปัญหา โดยนำเสนอรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพพื้นที่คลอง ได้แก่
4.1) การปรับปรุงในที่ดินเดิม โดยการเช่าที่ดินราชพัสดุร่วมกันและจัดระเบียบการอยู่อาศัยภายใต้กรอบโครงการบ้านมั่นคง
4.2) การสร้างชุมชนในที่ดินใหม่ ในลักษณะรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อซื้อที่ดินเอกชน และปลูกสร้างที่พักอาศัยร่วมกัน ในกรณีที่ไม่สามารถปรับปรุงในที่ดินเดิมได้
4.3) การเช่าซื้ออาคารในโครงการของการเคหะ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ทั้ง 3 รูปแบบ ชุมชนจะได้รับเงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน และเงินอุดหนุน สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ครัวเรือนละประมาณ 147,000 บาท รวมถึงการขอสินเชื่อในการสร้างบ้าน จาก พอช. ประมาณ 3.5 แสนบาท โดยมีดอกเบี้ยคงที่ 4%
5. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบชาติ ที่ 9/2560 เรื่อง การดาเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน ริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลาน้าสาธารณะ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 กำหนดมาตรการการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ โดยมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนตามแนวคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร อันเป็นประโยชน์ในการสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยรองรับให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
ในการนี้ กรมธนารักษ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และ กรุงเทพมหานคร จึงได้เข้าดำเนินการสร้างความเข้าใจกับชุมชนตามแนวคลองดังกล่าว เพื่อจัดทำที่อยู่อาศัยในที่ดินราชพัสดุเฉพาะพื้นที่ภายในโครงการก่อสร้างเขื่อน คสล. และประตูระบายน้ำ โดยให้ชุมชนรวมกลุ่มกันในรูปแบบสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ของ พอช.
6. ปี 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเรื่องแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 โดยเห็นชอบแผนงานการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมและบาบัดน้ำเสียคลองเปรมประชากร ทั้งระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ทั้งชุมชนและเมือง พัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน การจัดระบบสาธารณูปโภคและผังเมือง โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนงานหลักระยะเร่งด่วน ปี 2562 ถึง 2565 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,448 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมและบำบัดน้ำเสียของคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึงกรุงเทพมหานคร
โดยการดำเนินการที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คลองเปรมประชากร และต้องการคืนความใสให้กับคลองเปรมประชากร เพื่อความสวยงาม เป็นระเบียบ สามารถใช้เป็นทางระบายน้ำเพื่อ ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ภายใต้โครงการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่คลองเปรมประชากร ซึ่ง เป็นคลองที่ต่อเนื่องมาจากกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดปทุมธานี (ระยะทางคลองเปรมประชากรในเขต จังหวัดปทุมธานี ประมาณ 20.40 กิโลเมตร) สิ้นสุดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในกรุงเทพมหานคร ให้สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ส่วนในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อน ตามความเหมาะสมในพื้นที่ให้สามารถดำเนินการระบายน้ำได้ โดยมีพื้นที่ดำเนินการในเขตจังหวัดปทุมธานี ในเขตพื้นที่ของ หมู่ที่ 1, 2, 3, 5, 6 และ หมู่ที่ 7 ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
สำหรับการชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นข้อร้องเรียนของ นายศรีสุวรรณ จรรยา มีดังนี้
1. ประเด็นการถมคลองสาธารณประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
คลองเปรมประชากรมิได้เป็นคลองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นคลองที่ขุดขึ้นตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบกับได้มีประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและจัดซื้อ ที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อย และบางเหี้ย พ.ศ.2467 เพื่อสำหรับจัดซื้อที่ดินทำการขุดลอกซ่อมคลอง ก่อสร้างทำนบประตูน้ำ ทำคันกั้นน้ำ ทำตลิ่งคันคลอง หรือการอื่นๆ ที่จำเป็นต้องกระทำขึ้นเกี่ยวกับการระบายน้ำเชียงรากน้อยและบางเหี้ย โดยมีกระทรวงเกษตราธิการเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการตามประกาศกระแสร์ดังกล่าว และต่อมาได้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินสำหรับกิจการชลประทาน และทางราชการได้สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการของกรมชลประทาน ที่ดินดังกล่าวจึงมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติ ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ กรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองเปรมประชากร
2. ประเด็นการจัดให้เช่าโดยมิชอบ
การจัดให้เช่าที่ราชพัสดุบริเวณริมคลองเปรมประชากร เป็นการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 และข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านสังคม เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบชาติ ที่ 9/2560 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 กำหนดมาตรการการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ โดยมี โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนตามแนวคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร อันเป็นประโยชน์ในการสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้ง การพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยรองรับให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
ในการนี้ กรมธนารักษ์ สถาบันพัฒนา องค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และกรุงเทพมหานคร จึงได้เข้าดำเนินการสร้างความเข้าใจกับชุมชนตามแนวคลองดังกล่าว เพื่อจัดทาที่อยู่อาศัยในที่ดินราชพัสดุ เฉพาะพื้นที่ภายในโครงการก่อสร้างเขื่อน คสล. และประตูระบายน้ำ โดยให้ชุมชนรวมกลุ่มกันในรูปแบบสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ของ พอช. มีขั้นตอน ดังนี้
เดิมพื้นที่บริเวณริมคลองเปรมประชากร มีราษฎรก่อสร้างบ้านเรือนรุกล้ำแนวคลองและที่ดินริมคลอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาคลองเปรมประชากรในเขตพื้นที่ จังหวัดปทุมธานีแล้ว ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลองเปรมประชากรเกือบทั้งหมดได้รับรู้ เห็นด้วยกับโครงการของทางราชการ และจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์เพื่อออมเงินสำหรับจัดสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง ชุมชนวัดรังสิต จำกัด
โดยสหกรณ์ฯได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเช่าที่ดินราชพัสดุแปลงดังกล่าว เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานีได้ปิดประกาศการจัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวเป็นการทั่วไป ตามขั้นตอนการจัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุ ผลปรากฏว่า ไม่มีผู้ใช้สิทธิคัดค้านการขอเช่าดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดให้สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด (488 ครัวเรือน) เช่าเนื้อที่ประมาณ 22 – 3 – 36 ไร่ ตามหลักเกณฑ์บ้านมั่นคงในที่ราชพัสดุ พร้อมทั้งอนุญาตให้ก่อสร้างที่พักอาศัยในที่ราชพัสดุแล้ว โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
การอนุญาตให้สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด เช่าที่ราชพัสดุบริเวณดังกล่าว เพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคง จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งโครงการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่คลอง เปรมประชากรภายใต้โครงการบ้านมั่นคงในที่ราชพัสดุ เป็นโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐและ พัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีการทำงานบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่คลองเปรมประชากร จัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเขื่อน พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาคุณภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม อันจะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรที่อยู่อาศัยริมคลองเปรมประชากรและ ประชาชนโดยทั่วไป
3. ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจัดให้ชุมชนริมคลองเช่าที่ราชพัสดุ ตามโครงการบ้านมั่นคงดังนี้
คลองลาดพร้าวและบางซื่อ มีชุมชน 50 ชุมชน 6,868 ครัวเรือน รวมจัดให้เช่าแล้ว 38 ชุมชน 4,757 ครัวเรือน
คลองเปรมประชากร มีชุมชน 29 ชุมชน 3 กลุ่ม รวม 5,621 ครัวเรือน โดยจัดให้เช่าแล้วจำนวน 10 ชุมชน 1,422 ครัวเรือน และได้จัดทำMOU จำนวน 2 ชุมชน 328 ครัวเรือน.