จีนใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบ 1 พันล้านคน
ปักกิ่ง – ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าชาวจีนใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ เช่น การช้อปสินค้าช่วงไลฟ์สตรีม
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. หน่วยงานรัฐบาลจีนคือ China Internet Network Information Center (CNNIC) เผยข้อมูลล่าสุดว่า ในช่วงสิ้นปี 2563 จีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 989 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 85.4 ล้านรายในเดือนมี.ค. ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19 ในจีนที่ทำให้ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์และชาวจีนจำนวนมากต้องอยู่แต่ในบ้าน
เมื่อเปรียบเทียบกัน ขนาดประชากรผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเกือบ 1 พันล้านรายในจีน สูงกว่าอินเดียที่มีประชากรใช้งานอินเทอร์เน็ต 350 ล้านราย และมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศของสหรัฐฯ
ในรายงานระบุว่า ระหว่างเดือนมี.ค.จนถึงสิ้นปี มีนักช้อปออนไลน์ในจีนเพิ่มขึ้น 72.15 ล้านราย โดยส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน ทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานทั้งหมดอยู่ที่ 782 ล้านราย เนื่องจากมีชาวจีนที่มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น และทำงานที่บ้านมากขึ้น
รายงานยังชี้ว่า สัดส่วนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีเงินเดือนอย่างต่ำ 5,001 หยวน ( ราว 23,260 บาท) เพิ่มขึ้นเป็น 29.3% ในเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้นจาก 27.6% ในเดือนมี.ค.
จำนวนคนทำงานทางไกลเพิ่มขึ้น 147 ล้านอัตราจากเดือนมิ.ย. เป็น 346 ล้านคนในเดือนธ.ค. คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน
ที่เติบโตเด่นชัดคือนักช้อปออนไลน์ รวมทั้งจำนวนผู้ชมวีดีโอสตรีมมิง โดยเพิ่มขึ้นถึง 76.33 ล้านราย (ในช่วงเวลากว่า 9 เดือน) เป็น 927 ล้านรายในเดือนธ.ค.
หมายความว่าเกือบ 94% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวจีนชมวีดีโอออนไลน์ ขณะที่ช้อปออนไลน์อยู่ที่ 79%
เฉพาะในส่วนผู้ใช้งานที่ชมวีดีโอสั้นเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนจากเดือนมี.ค.เป็น 873 ล้านคนในช่วงสิ้นปี
ตัวเลขผู้ใช้งานไลฟ์สตรีมมิงของอีคอมเมิร์ซก็พุ่งขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึง 123 ล้านคนจากเดือนมี.ค.เป็น 388 ล้านคนในเดือนธ.ค. โดยรายงานระบุว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ใช้งานเหล่านี้จะซื้อสินค้าในขณะชมไลฟ์สตรีม
นอกจากนี้ การศึกษาและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพออนไลน์ก็ขยายตัวเติบโตในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และลดลงในช่วงเดือนธ.ค.
จำนวนผู้ใช้งานด้านการศึกษาออนไลน์อยู่ที่ 342 ล้านคน ลดลง 81.25 ล้านคนจากเดือนมี.ค.ที่เคยพุ่งถึง 423 ล้านคน
ผู้ใช้งานด้านการให้คำปรึกษาสุขภาพออนไลน์ลดลงเหลือ 215 ล้านคน ลดลงจาก 276 ล้านคนในเดือนมิ.ย. เนื่องจากไม่มีตัวเลขเดือนมี.ค.
รายงานเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ไม่ได้เน้นย้ำว่า การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพออนไลน์ในพื้นที่ด้อยพัฒนาของจีนเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.มาประมาณ 1 ใน 5 ในเดือนธ.ค.