สหรัฐฯโดดเดี่ยวในการประชุม G-20
บรรดาผู้นำจากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเห็นต่างกับสหรัฐฯ ในประเด็นสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 เมื่อวันที่ 8 ก.ค.
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนีแสดงให้เห็นถึงทักษะความเป็นคนกลางก่อนการเลือกตั้งของเยอรมนี 2 เดือน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายแรกในการประชุมที่เมืองฮัมบวร์กโดยการโน้มน้าวให้บรรดาผู้นำสนับสนุนแถลงการณ์ที่เป็นคำมั่นร่วมกันในเรื่องการค้า การเงิน พลังงาน และแอฟริกา
แต่ดูเหมือนจะมีความคิดที่แตกต่างระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ที่ให้สัญญากับคนในประเทศว่า ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ กับอีก 19 ประเทศสมาชิกที่เหลือ
“ สุดท้ายแล้ว การเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศก็ยังมีความขัดแย้ง ทุกประเทศเห็นต่างกับสหรัฐฯ ” ผู้นำเยอรมนีกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจบการประชุม
“ และความจริงที่ว่า การเจรจาเรื่องการค้ายิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีกจากแนวนโยบายของสหรัฐฯ ”
ทั้งนี้ การประชุม G-20 ถูกก่อกวนจากกลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงที่ทำให้ถนนในเมืองฮัมบวร์กมีสภาพเลอะเทอะจากซากรถยนต์ที่ถูกเผาทำลายและกระจกหน้าร้านต่างๆที่พังแตกกระจาย โดยผลจากความรุนแรงทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บทั้งหมดมากกว่า 200 นาย มีผู้ถูกจับกุมตัว 143 คนและมี 122 คนที่ถูกแจ้งข้อหาและดำเนินคดี
ดูราวกับว่าทรัมป์จะถูกโดดเดี่ยวจากผู้นำประเทศอื่นๆ เมื่อเขายืนยันว่าสหรัฐฯ ขอถอนตัวจากข้อตกลงกรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชาติพันธมิตรในยุโรปมีท่าทีไม่ใส่ใจเขาและอาจเป็นการเปิดโอกาสให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเบอร์ 1 ของโลกแทนที่สหรัฐฯ ได้อย่างไม่ยากเย็นนักในอนาคต
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า หลังการถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีส สหรัฐฯจะยังคงทำงานใกล้ชิดกับประเทศอื่นๆ เพื่อให้การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นไปอย่างสะอาดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในการประชุมนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ทรัมป์ได้พบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย หลังจากเคยมีข้อสงสัยว่า รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีก่อน ซึ่งมีผลทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอย่างน่ากังขา
ผู้นำรัสเซียกล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ว่า ผู้นำสหรัฐฯสอบถามเขาตลอดเวลาในระหว่างการประชุมตลอดสองชั่วโมง แต่ดูมีท่าทีพอใจกับคำปฏิเสธของเขาที่ว่าไม่ได้แทรกแซงกิจการของสหรัฐฯ
“ เป็นการประชุมที่สำคัญและยอดเยี่ยม ” รัฐมนตรีต่างประเทศเร็กซ์ ทิลเลอร์สันสหรัฐฯ บรรยายว่ามีเคมีด้านบวกมากๆ ระหว่างทรัมป์กับอดีตสายลับ KGB อย่างปูติน
ทั้งนี้ ในด้านการค้า เหล่าผู้นำประเทศต่างยึดมั่นที่จะต่อสู้กับระบบการกีดกันทางการค้า รวมถึงการค้าที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังยืนยันที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจของแอฟริกา ซึ่งเป็นโครงการที่แมร์เคิลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ.