คลังโว!รัฐสู้โควิดฯได้ ดันจีดีพีปี’63-64 ดีขึ้น
“โฆษกคลัง” แจงพิษโควิดฯไม่กระทบจีดีพีปี63 เหตุมีช่วงกระทบแค่ 2 สัปดาห์ สั่งปรับเพิ่มจากติดลบ 7.7 เหลือติดลบ 6.5 มั่นใจมาตรการรัฐ สู้โควิดฯ และโครงการจาก “คนละครึ่ง – เราชนะ” ยันไวรัสฯอยู่ ตั้งเป้าจีดีพีปี’64 โต 2.8% ยอมรับเศรษฐกิจไทยยังต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิด
ใครที่คิดว่าผลกระทบจากพิษโควิด-19 จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ให้ดำดิ่งลงได้อย่างแรงนั้น แต่เอาเข้าจริง! แม้จะมีการระบาดฯระลอกใหม่ แต่จีดีพีของไทย ในมุมของกระทรวงการคลัง กลับดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
เดิมที่กระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีปี 2563 อาจติดลบ 7.7% แต่หลังจากเห็นตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มไตรมาส 4 ที่ดีขึ้นไปอีก จึงได้ปรับตัวเลขจีดีพีใหม่อีกครั้งเป็น ลบ 6.5%
“โฆษกกระทรวงการคลัง” น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงยืนยันว่า จาก 5 สมมติฐานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสมมติฐานเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม คาดว่าการส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์จะติดลบ 6.6% และคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในปี 2564 ที่ 6.2% ,
สมมติฐานค่าเงินบาท ที่แข็งค่าเฉพาะดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ไม่ใช่กับประเทศที่เหลือ โดยค่าเงินบาทปี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 30.01 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปีก่อนที่ 4.1%
สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ราคาไม่ขยับขึ้นมากนัก, สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิม 8 ล้านคนในปี 2564 เหลือ 5 ล้านคน ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้เงินตราต่างประเทศ เหลือเพียง 2 แสนกว่าล้านบาท
รวมถึงสมมติฐานรายจ่ายภาคสาธารณะ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายจาก พรก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจัดเตรียมวงเงินใช้จ่ายผ่าน 3 แผนงาน คือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท, ด้านช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย 5.65 แสนล้านบาท และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 3.9 แสนล้านบาท รวม 7.11 แสนล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2563 – 2564 ส่วนที่เหลือเกือบ 3 แสนล้านบาท จะนำไปใช้ในปี 2565
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิดฯที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2563
ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี และร้อยละ -8.9 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี และร้อยละ -9.8 ต่อปี ตามลำดับ และมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ -6.6 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักฟื้นตัวได้เร็วดีกว่าที่คาด หลังจากที่หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด
ทั้งหมด คือ เหตุผลที่กระทรวงการคลังประเมินว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะติดลบลดลง หรือพูดให้ชัดคือ ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงแค่นั้น จีดีพีของไทยในปี 2564 ยังถูกคาดการณ์อีกว่า น่าจะปรับตัวเพิ่มเป็นบวกที่ 2.8%
แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯระลอกใหม่ จะกินช่วงเวลาของปี 2653 เพียงแค่ 2 สัปดาห์ และส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงปี 2564 แต่ “โฆษกกระทรวงการคลัง” เชื่อว่า นโยบายรัฐที่ออกมาในช่วงนี้ โดยเฉพาะโครงการคนละหนึ่งเฟส 2 ที่ภาครัฐใช้เงินสนับสนุนการใช้จ่ายฯครึ่งนึงและอีกครึ่งเป็นเงินของประชาชน รวมกันมากกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงจีดีพีได้ราว 0.1-0.2% ขณะที่โครงการเราชนะ ภาครัฐใช้เงินกว่า 2.1 แสนล้านบาท คาดจะไปเพิ่มจีดีพีได้ราว 0.5-0.6%
โดยจะส่งผลบวกในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งนั่น ทำให้กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าจีดีพีในปี 2564 จะขยับเป็นบวก
“เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
โดย การประมาณการเศรษฐกิจไทย ต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดฯ 2) ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนของประเทศต่างๆ และ 3) นโยบายทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและความผันผวนของเงินลงทุนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีฐานะการคลังที่มีความมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป.