ครม.ควัก 4 หมื่นล.ชดเชยมาตรการภาษีที่ดิน
ครม.สั่งสำนักงบฯหาเงินชดเชยให้ อปท.กว่า 4 หมื่นล้านบาท ในปีงบ’65 หลังคลอดมาตรการภาษีและสิ่งปลูกสร้าง พ่วงลดค่าธรรมเนียมโอนฯ สู้โควิดฯและกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ “อาคม” ย้ำ! ยืดภาษีเงินได้ ลค่าเพิ่ม และ หัก ณ ที่จ่ายไม่ ไม่ทำให้รายได้รัฐไม่สูญ ด้าน อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ! ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้คนไทยและผู้ประกอบการ ทั้งระบบรวมกว่า 2.65 แสนล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 มกราคม 2564 มีมติเห็นชอบมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมในปีงบประมาณ 2564 ทั้งปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดโรนา –19 ในปี 2564 ประกอบด้วย
มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ โดยให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564
มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง และช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
“มาตรการลดภาษีที่ดินฯ และมาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ จะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการขยายเวลายื่นแบบฯ ที่จะต้องมีการออกประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป” นายอาคม ระบุ
รมว.คลัง ยอมรับว่า มาตรการข้างต้นทำให้รัฐต้องชดเชยรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยในส่วนของมาตรการลดภาษีที่ดินฯ ต้องใช้เงินราว 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ ต้องใช้เงินราว 5.6 พันล้านบาททั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ได้สั่งการให้สำนักงบประมาณจัดหาและตั้งงบประมาณก้อนเงินนี้มาให้ในปี 2565 พร้อมกันนี้ ให้กระทรวงการคลังไปหารือกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ถึงแนวทางการดำเนินการเหล่านี้
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นโดยสรุปรายละเอียดมาตรการได้ ดังนี้
1. ขยายเวลาการยื่นและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม เป็น 30 มิถุนายน เฉพาะการยื่นแบบ e-filing
2. ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และการนำส่งหรือชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับภาษีของเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 ที่ต้องยื่นแบบ นำส่ง หรือชำระ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2564 โดยขยายเวลาออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้นๆ เฉพาะการยื่นแบบ e-filing
“การขยายเวลายื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ต เป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมทางภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้าน หรือ Tax From Home ช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงจาก COVID – 19 ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือประชาชนและผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น โดยไม่ได้กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังต้องบริหารจัดการกระแสเงินสดเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระภาษีที่เลื่อนออกไป” นายอาคม ย้ำ
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การขยายเวลาการยื่นแบบฯให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการดังกล่าว โดยการขยายเวลายื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนในระบบ 10,600 ล้านบาท ส่วนการขยายเวลายื่นแบบฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 255,100 ล้านบาท.