สรุปข่าว 24-01-64
ส่องหุ้นไทย : บล.กสิกรไทย มองดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้า (25-29 ม.ค.) คาดดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,485 และ 1,470 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,520 จุด ตามลำดับ
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระหว่างวันที่ 26-27 ม.ค. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายเดือนธ.ค. 63 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/63 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 63 ของจีน ตลอดจนยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 63 ของญี่ปุ่น.
น้ำมันโลกร่วงต่อ : สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก เดือน ก.พ. ปิดร่วงลงเมื่อช่วงเช้ามืด 24 ม.ค. ตามเวลาไทย โดยถูกกดดันจากแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ท่ามกลางการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุด ลงลง -1.14ดอลลาร์ต่อบาเรล (-2.15%) ปิดที่ 51.99 ดอลลาร์ต่อบาเรล ขณะที่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ เดือน มี.ค.64 ก็ลดลงในทิศทางเดียวกัน โดยลดลง -1.01 ดอลลาร์ต่อบาเรล (-1.80%) ปิดที่ 55.09 ดอลลาร์ต่อบาเรล.
ทองโลกตกอีก : ราคาทองคำในตลาดโลกยังคงอยู่ในทิศทางขาลงต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ Spot ดอลลาร์สหรัฐ ที่ปิดตลาดช่วงเช้า 24 ม.ค.ของไทย ปรับตัวลดลง -14.42 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (-0.77%) ปิดที่ 1,855.86 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านสมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาทองคำเมื่อ 23 ม.ค. เพียงครั้งเดียว ลดลงจากราคาปิดเมื่อวันก่อนถึง -100 บาท โดยราคาซื้อทองคำแท่ง บาทละ 26,250บาท ขาย 26,350 บาท ขณะที่ราคาซื้อทองคำรูปพรรณ 25,772 บาท ขาย 26,850 บาท.
ค่าบาทแข็งทรงๆ : ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท ช่วง 25-29 ม.ค.ที่ระดับ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และสัญญาณการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ย. 63 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายรายได้-รายจ่ายส่วนบุคคลและอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index เดือนธ.ค. 63 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. 64 และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/63 (ครั้งที่ 1) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนธ.ค. 63 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยเช่นกัน.
อบต.ทำเอง : กรณี อบต.เจริญสุข แจ้งหยุดจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุให้ นางบวน โล่สุวรรณ คุณยายวัย 89 ปีที่เริ่มได้รับนับแต่ปี 53 เพราะได้รับเงินบำนาญพิเศษ เดือนละ 5,000 บาท กรณีที่ลูกชาย (ทหารสังกัด มทบ.21 นครราชสีมา) เสียชีวิตจากเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่โคราช เมื่อ 25 ต.ค.44 ต่อมากรมบัญชีกลางมีหนังสือมาเรียกเก็บเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืนรวมดอกเบี้ย 84,000 บาท ล่าสุด โฆษกกรมบัญชีกลาง ระบุ เป็นหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ถึงการกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ส่วนการเรียกเงินคืนไม่ใช่หน้าที่ของกรมบัญชีกลาง แต่เป็นเรื่องของอบต.เอง.
ก.พ.นี้ได้วัคซีน : โฆษกรัฐบาล ย้ำ นายกฯ มีนโยบายฉีดวัคซีนโควิดฯให้คนไทยในปีนี้ ร้อยละ 50 ภายใน จึงต้องจัดหาวัคซีน 70 ล้านโดส หนึ่งคนฉีด 2 โดส ซึ่งการนำเข้าวัคซีนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย ตอนนี้ อย.ได้ลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนของ บ.แอสตราเซเนกาแล้ว คาดว่าล็อตแรกประมาณ 5 หมื่นโดสจะมาถึงไทย ก.พ.นี้ เมื่อวัคซีนมาถึงประเทศไทยแล้วกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการสุ่มตรวจว่ามีคุณภาพตามที่บริษัทกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่จะนำไปฉีดให้ประชาชน.
อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีน : นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ชี้ สำนักงาน อย. ได้อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 อย่างเต็มที่ โดยระดมสรรพกำลังทั้งผู้เชี่ยวชาญร่วมพิจารณาเพื่ออนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด ยึดหลักว่าต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล ไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน โดยเมื่อ 20 ม.ค.ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินให้กับวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว.
เอ็กซ์เรย์ละเอียดยิบ : นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาต้องดูข้อมูลรายละเอียดในสัปดาห์หน้าว่าสอดคล้องกับแนวโน้มที่รัฐคิดไว้หรือไม่ ถ้าสอดคล้องกันก็แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เหลือจุดที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ที่จ.สมุทรสาคร และที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก เน้นหนักไปที่จ.สมุทรสาคร ส่วนมาตรการที่เราจะผ่อนคลายต่างๆ ก็ต้องดูสถานการณ์สัปดาห์หน้าเช่นกัน รวมถึงการจะเปิดตลาดกลางกุ้งนั้น จะต้องยึดหลักของการแพทย์ และสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งที่ประชุมฯเห็นพ้องว่า น่าจะมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เข้าไป เพื่อให้สถานการณ์ที่ดีขึ้นอยู่แล้ว ดีขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งหลังจากนี้ก็จะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม.
ขอขยายเวลา : นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ทำหนังสือยื่นถึงนายกฯ ขอความกรุณาผ่อนปรนให้ร้านอาหารนั่งได้ถึงเวลา 23.00 น. โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องด้วยคําสั่งของ ศบค.ฉบับล่าสุดอนุญาตให้ลูกค้าสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ถึงเวลา 21:00 น. ซึ่งยังสร้างผลกระทบให้กับยอดขายของร้านอาหาร ตั้งแต่ระดับร้านอาหารริมทางจนถึงร้านอาหารภัตตาคาร ในแง่ของจิตวิทยาและสภาพชีวิตการทํางานของลูกค้าทําให้ลูกค้าไม่สะดวกและตัดสินใจไม่นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารด้วยเงื่อนไขของเวลา จึงขอขยับเวลาให้บริการเป็น 23.00 น. เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้.