โควิด-19 ทำหญิงญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้น
โตเกียว – ในปี 2563 ญี่ปุ่นมีตัวเลขการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น หลังจากลดลงมานานนับทศวรรษ โดยผู้หญิงฆ่าตัวตายมากขึ้นจากแรงกดดันทางความรู้สึกและทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
การฆ่าตัวตายมีประวัติศาสตร์ยาวนานในญี่ปุ่น เป็นการฆ่าตัวตายเพื่อหลบหนีจากความอับอายหรือความไร้เกียรติ และอัตราการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่น จัดว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ G7 แต่จากความพยายามที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขลดลงถึง 40% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึง 10 ปีที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2552 เป็นต้นมา
แต่ข้อมูลเบื้องต้นของตำรวจที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ชี้ว่า จำนวนคนฆ่าตัวตายทั้งหมดอยู่ที่ 20,919 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 750 คน
นักเคลื่อนไหวและนักวิจัยระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แต่จากเดือนก.ค. จำนวนคนฆ่าตัวตายเริ่มเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีกับครัวเรือน
เมื่อเปรียบเทียบกัน มีชาย 13,943 คน และหญิง 6,976 คนที่เลือกจบชีวิตตัวเอง สำหรับผู้ชายคือลดลง 1% จากปีก่อนหน้า แต่สำหรับผู้หญิง เพิ่มขึ้นถึง 14.5% ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานภาคบริการและค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจนต้องตกงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
“แนวโน้มผู้หญิงฆ่าตัวตายจากความยากลำบากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” กระทรวงสุขภาพกล่าวในการแถลงข่าว
“การฆ่าตัวตายเป็นผลจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่าสิงหนึ่งที่ระบุได้ชัดเจนคือ ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจและปัจจัยการใช้ชีวิต”
โดยเดือนที่เลวร้ายที่สุดคือเดือนต.ค. ซึ่งมีตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงถึง 2,153 คน มากที่สุดในรอบกว่า 5 ปี จำนวนผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายอยู่ที่ 851 คน เพิ่มขึ้นถึง 82.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562
หลายปีมาแล้วในญี่ปุ่น การตรวจสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องน่าอาย แต่การฆ่าตัวตายพุ่งขึ้นสูงสุดอยูที่ 34,427 คนในปี 2546 เป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้รัฐบาลร่างโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ครอบคลุมในปี 2550
จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่รวมถึงการดูแลกลุ่มเสี่ยง การลดเวลาทำงานล่วงเวลา และทำให้เข้าถึงการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ง่ายขึ้น ทำให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายลดลงกว่า 20,000 คนในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19