กูเกิลขู่บล็อกเสิร์ชข้อมูลในออสเตรเลีย
ซิดนีย์ – เมื่อวันที่ 22 ม.ค. บริษัทยักษ์ใหญ่กูเกิลระบุว่า จะบล็อกบริการเสิร์ชเอนจิ้นในออสเตรเลีย หากรัฐบาลออสเตรเลียออกกฎใหม่ที่บีบให้บริษัทและเฟซบุ๊กต้องจ่ายเงินให้บริษัทสื่อเพื่อลิขสิทธิ์ในคอนเทนต์เหล่านั้น
คำขู่จากกูเกิลยิ่งเป็นการยกระดับการต่อสู้กับหลายสำนักข่าว เช่น นิวส์คอร์ป ที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด
โดยยักษ์ใหญ่ในการสืบค้นข้อมูลออกโรงเตือนว่า ผู้ใช้งาน 19 ล้านรายในออสเตรเลียจะถูกลดระดับการค้นหาข้อมูลและประสบการณ์ใช้งานยูทูบ หากมีการบังคับใช้กฎใหม่
ออสเตรเลียเตรียมดำเนินการผ่านกฎหมายที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต้องจ่ายเงินให้สำนักพิมพ์และสำนักข่าวในประเทศสำหรับคอนเทนต์ที่รวมอยู่ในผลการค้นหา หรือนิวส์ฟีด หากว่าบริษัทไม่ตกลง คณะอนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลแต่งตั้งจะตัดสินใจเรื่องจำนวนเงิน
“ ทั้งการเงินที่จัดการไม่ได้และความเสี่ยงในการดำเนินการ หากกฎระเบียบใหม่กลายเป็นกฎหมาย จะทำให้เราไม่มีทางเลือกจริงๆ นอกจากหยุดให้บริการกูเกิลเสิร์ชในออสเตรเลีย” เมล ซิลวา กรรมการผู้จัดการของกูเกิลในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ระบุ
โดยซิลวาไม่ได้เอ่ยถึงยูทูบ เนื่องจากคาดการณ์ว่าบริการวีดีโอนี้จะได้รับการยกเว้นจากระเบียบการใหม่ที่ออกมาในเดือนที่แล้ว
ความเห็นของกูเกิลทำให้นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสันโต้กลับว่า ออสเตรเลียสร้างกฎขึ้นมาสำหรับ “สิ่งที่คุณทำได้ในออสเตรเลีย”
“ ผู้ที่อยากทำงานพร้อมยอมรับกฎนี้ได้ในออสเตรเลีย เรายินดีต้อนรับ แต่เราไม่สนใจคำขู่” นายกฯมอร์ริสันกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ร้อด ซิมส์ ประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ซึ่งกำกับดูแลกฎนี้ระบุว่า เขาไม่อาจทำนายได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จะทำอะไร แต่ชี้ว่า “ มีความเสี่ยงเสมอในการเจรจาเรื่องสำคัญ”
“ บริษัทพูดเรื่องดีลโฆษณา ซึ่งบริษัทควบคุมได้หมด ในความเห็นของผม มันไม่ใช่ดีลโฆษณา ”
กูเกิลระบุว่ากฎใหม่ครอบคลุมกว้างเกินไป และชี้ว่า หากไม่มีการแก้ไข จะทำให้การเสิร์ชข้อมูลถูกจำกัด
บริษัทไม่เปิดเผยยอดขายจากออสเตรเลีย แต่โฆษณาในการเสิร์ชข้อมูลเป็นแหล่งรายได้และผลกำไรใหญ่ที่สุดทั่วโลก
ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลสหรัฐฯขอให้ออสเตรเลียยกเลิกกฎหมายที่เสนอมา และแนะให้เป็นเรื่องความสมัครใจแทน
ออสเตรเลียประกาศการดำเนินการทางกฎหมายเมื่อเดือนที่แล้ว หลังการสืบสวนพบว่ากูเกิลและเฟซบุ๊กมีอำนาจในตลาดมากเกินไปในอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อกลไกประชาธิปไตย
คำขู่ของกูเกิลที่จะจำกัดการให้บริการในออสเตรเลียมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตบรรลุข้อตกลงจ่ายค่าคอนเทนต์ให้กับสำนักข่าวฝรั่งเศสหลายแห่งนาน 3 ปี จำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นการสนับสนุนสำนักข่าว