งบซื้อสื่อโฆษณาโตสุดในอินเดีย
อินเดียเติบโตสูงสุดในการใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาในปีนี้ ด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 11.5% ในปี 2559 อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุด
ถึงแม้รัฐบาลอินเดียจะมีการดึงธนบัตรออกจากตลาดในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้กระแสเงินสดที่ไหลเวียนในตลาดลดลงสูงถึงประมาณ 86% แต่การใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณากลับเติบโตขึ้น โดยคาดว่าจะสูงถึง 19% ในปี 2562 บริษัทในอินเดียยังคงใช้เงินส่วนใหญ่ของงบการตลาดในสื่อแบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์
ในขณะที่คาดว่าตลาดโฆษณาในรัสเซียมีการเติบโตถึง 9.6% ในจีนและสเปนมีตัวเลขการเติบโต 7.3% อ้างอิงจากรายงานของ MAGNA
การเติบโตในประเทศเหล่านี้สูงล้ำหน้าอีกหลายประเทศ โดยคาดการณ์ว่า ในสหรัฐฯ จะมีการเติบโต 1.6% ในงบซื้อสื่อโฆษณา ขณะที่ฝรั่งเศสมีการเติบโต 0.4% ส่วนนักโฆษณาในสหราชอาณาจักรคาดว่าจะใช้งบเพิ่มขึ้น 1.9% ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน
การใช้งบซื้อสื่อโฆษณาทั่วโลกจะเติบโต 3.7% เป็น 505,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 นี้ ชะลอตัวลงกว่าปี 2559 ซึ่งเคยเติบโตทำสถิติถึง 5.9% จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และอีเวนท์กีฬา สำคัญเช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในนครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล มีงบซื้อสื่อโฆษณาในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สูงถึง 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงจากรายงานอีกฉบับจาก Borrell Associates ซึ่งจัดพิมพ์ในเดือนม.ค.
“ ในปี 2560 การเติบโตของทั้งสื่อดิจิทัลและออฟไลน์จะชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ยอดขายโฆษณาออนไลน์ยังคงเติบโตต่อเนื่องด้วยตัวเลข 2 หลักในตลาดส่วนใหญ่ ( ทั่วโลกคือ 13%) แต่สื่อโฆษณาโทรทัศน์จะลดลง ( ลดลง 1%) จากราคาที่ค่อยๆลดลง เรตติ้งคนดูโทรทัศน์ที่ลดลง และไม่มีอีเวนท์กีฬาใหญ่ๆ” วินเซนท์ เลทัง EVP ตลาดทั่วโลกของ MAGNA กล่าว
นักโฆษณาใช้งบส่วนใหญ่ในสื่อดิจิทัล คิดเป็นมูลค่า 204,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมากกว่าครึ่งของตัวเลขนี้ ( 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นโฆษณาบนโทรศัพท์มือถือ โดยงบโฆษณาโทรทัศน์ทั่วโลกมีมูลค่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในสหรัฐฯ สื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุ คิดเป็นส่วนใหญ่ของตลาดในปี 2560 ด้วยตัวเลขคาดการณ์งบใช้จ่าย 102,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ลดลง 4% จากปี 2559) ขณะที่คาดการณ์ว่า จะมีงบโฆษณาบนสื่อดิจิทัลถึง 83,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 14.3% จากปีก่อน
ทั้งนี้ MAGNA ทำการวิเคราะห์งบประมาณในการใช้ซื้อสื่อโฆษณาใน 70 ประเทศทั่วโลก.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 34.15 บาท / 22 มิ.ย. 2560