“โควิค” ระลอกใหม่ …ฉุด GDP ปี 64 ทรุด
10 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่มี.ค. 2563 ที่มีการประกาศล็อคดาวน์ประเทศ หลังจากที่คนไทยต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิค-19 ซึ่งในช่วงแรกๆที่มีการแพร่เชื้อ ต้องยอมรับคนไทยมีการดูแลป้องกัน และให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลอย่างดี ทำให้การระบาดของโรคอยู่ในวงจำกัด
สะท้อนจากองค์กรระหว่างประเทศทั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์กรสหประชาชาติ (UN) , สหภาพยุโรป หรือ(อียู )และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ต่างก็ชื่นชมไทยในการรับมือการระบาดของโลกได้อย่างรวดเร็ว
การควบคุมการระบาดได้ในช่วงแรก ทำให้ภาคธุรกิจ นักลงทุน เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเริ่มกลับมาดำเนินการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลมีแนวคิดจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ไม่มีการติดเชื้อ
แต่ความฝันนั้นต้องพังทลายลง เมื่อไทยพบการระบาดระลอกใหม่จากการลักลอบเข้าประเทศ ตามแนวชายแดนเมื่อเดือน ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และการระบาดระลอกนี้ถือว่าได้ขยายวงกว้าง ไปในจังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน ประกอบ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย หรือ กกร.ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก การท่องเที่ยวในประเทศซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตลอดครึ่งหลังของปี 2563 ไม่สามารถเดินต่อได้ชั่วคราว หลังจากมีมาตรการเข้มงวดจำกัดการเดินทางในหลายจังหวัดที่มีประชากรมากหรือเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะใช้เวลายาวนานประมาณ 2-3 เดือน
และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.5% หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเวลา 3 เดือน ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าขยายตัวได้ 2.0% ถึง 4.0% เช่นเดียวกับประมาณการการส่งออกในปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.0%
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ว่ามาตรการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดรอบนี้ไม่น่าจะส่งผลเชิงลบกับเศรษฐกิจมากเท่าที่เห็นในช่วงไตรมาสสอง เนื่องจากทางราชการยังอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ดำเนินต่อไปได้อย่างน้อยก็ช่วยให้ธุรกิจส่วนใหญ่เดินหน้าต่อได้ ไม่เกิดการปิดกิจการ เลิกจ้าง
แต่การใช้จ่ายของคนในประเทศซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ ในไตรมาสแรกปีหน้า อาจกลับมาหดตัวแรงขึ้น หลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสามที่ผ่านมา และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวไม่ถึง 3%
เศรษฐกิจไทยปี 64 (%)
กกร. | 1.5-3.5 |
กสิกรไทย | 2.6 |
กรุงไทย | 2-4 |
กรุงศรี | 3.3 |
กองทุนบัวหลวง | 3.8 |
ซีไอเอ็มบีไทย | ต่ำกว่า 3 |
ไทยพาณิชย์ | 3.8 |
ธปท. | 4.5 |
ต้องติดตามการประเมินภาพเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและปีนี้ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการปรับประมาณการณ์จีดีพีใหม่ หลังจากที่ส่วนใหญ่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2% ซื่งเชื่อว่าขณะนี้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทุกแห่ง กำลังทบทวนตัวเลขจีดีพีปีนี้ใหม่ หลังต้องเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ที่ยังหาจุดจบไม่เจอ