ซาอุดิอาระเบียรับมือราคาน้ำมันขาลง
ราคาน้ำมันที่ดิ่งร่วงลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ซาอุดิอาระเบียต้องตัดลดการใช้จ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณที่จะมาถึงนี้ และเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีก ถึงแม้ยากที่ราคาน้ำมันจะหวนกลับมาเป็นขาขึ้นก็ตาม
หากอ้างอิงจากการวิเคราะห์ของสถาบันหน้าใหม่อย่างบิ๊ก ครันช์มีสัญญาณว่า ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังจะล้มละลายอย่างรวดเร็วก่อนปี 2561
เนื่องจากน้ำมันดิบล้นตลาด ทำให้หลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้งบประมาณของประเทศสมดุล ประเทศร่ำรวยอย่างกาตาร์ และคูเวตดูเหมือนจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ ในขณะที่ประเทศยากจนกว่าอย่างลิเบียยังต้องเผชิญกับสภาพการสู้รบ และสงครามกลางเมืองที่สร้างหายนะให้กับประเทศต่อไป
จากรายงานของไอเอ็มเอฟ ลิเบียต้องขายน้ำมันให้ได้ในราคา 269 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9,415 บาทต่อบาร์เรล (35 บาทต่อ 1ดอลลาร์สหรัฐฯ) ถึงจะทำให้ลิเบียกลับมามีงบประมาณที่สมดุลได้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เคยประเมินไว้ว่า ซาอุดิอาระเบียจะล้มละลายภายในเดือนส.ค.2561 ซึ่งคำนวณบนพื้นฐานของราคาน้ำมันที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,400 บาทต่อบาร์เรล และก่อนที่จะมีการตัดลดการใช้จ่ายของรัฐบาล
จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการลงทุน แสดงว่า ปี 2559 นี้ ซาอุดิอาระเบียจะตัดลดงบประมาณลง 13.8% จากปี 2558 ถึงแม้ธนาคารบาร์คลีส์จะออกมาบอกว่า ซาอุฯจะตัดลดได้เกือบ 5% เท่านั้น โดยซาอุฯคาดการณ์ว่าจะขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 12.9% ของจีดีพีในปีนี้
นอกจากนี้เพื่อเป็นการช่วยในการตัดลดงบประมาณ ซาอุฯจึงได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในปริมาณมากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นมา โดยตัวเลขล่าสุดนี้มาจากองค์การสารสนเทศพลังงาน (EIA)
ในขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตจะช่วยดึงซาอุฯขึ้นมาจากก้นเหวได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยบรรเทาภาวะน้ำมันล้นตลาดในตลาดโลกแต่อย่างใด จากข้อมูลของ อีไอเอ จะมีกำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลก 95 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำมันทั่วโลกอยู่ที่ 94 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในจีน มักจะถูกอ้างว่า เป็นสาเหตุของอุปสงค์ที่ลดลงในตลาดโลก นอกจากนี้ อิหร่านก็กลับเข้ามาเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันในสัปดาห์นี้อีกครั้ง หลังจากมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก โดยอิหร่านมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะไม่พิจารณาลดกำลังการผลิตลงจนกว่าจะถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ความหวังในการทำข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศโอเปก และรัสเซียที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ก็ต้องสลายไป หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่ระบุชื่อจากอิหร่าน แจ้งกับสื่อว่า อิหร่านจะไม่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบีย ได้เคยแถลงก่อนหน้านี้ว่า จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ถ้าสมาชิกกลุ่มประเทศโอเปก และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกจะทำเหมือนกัน