จับตา 2021 ชวน ถือธง ปรองดอง
ชวน หลีกภัย พยายามผลักดันกรรมการสมานฉันท์ให้เป็นรูปเป็นร่าง แม้มีเสียงคัดค้าน ทัดทานและเย้ยหยันก็ตาม
แม้ว่าการตั้งกรรมการสมานฉันท์ปรองดอง จะดูล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในปี 2020 ที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุมต่างเห็นว่าเป็นเพียงกระบวนการปาหี่ ยื้อเวลา เพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลไว้ให้ได้นานที่สุดก็เท่านั้น
กระนั้น หัวหอกนำขบวนอย่าง ชวน หลักภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้ลดละความพยายาม ในการตั้งกรรมการสมานฉันท์ แม้ไม่มีฝ่ายค้านและผู้ชุมนุม แต่ก็ยังจะตั้งอยู่ดี
เพราะด้วยสถานการณ์ปี 2021 ที่ประเมินว่าม็อบจะแผ่ว รัฐบาลเองก็คงจะอยู่ในอำนาจไปจนกว่าจะครบเทอมเลือกตั้ง จึงเชื่อว่าหลายฝ่ายจะร้องเรียกหาความปรองดอง
นั่นเพราะบทเรียนในปี 2020 มีให้เห็นแล้วว่าการไม่มีคนกลางเพื่อเจรจาพูดคุยนั้น เป็นเหมือนกันผลักให้การเมืองไทยเข้าสู่สภาวะวิกฤต
เมื่อต่างคนต่างพูด ความขัดแย้งก็ยิ่งจะมีแต่ลุกลามบานปลาย
ดังนั้น บรรยากาศการเมืองปี 2021 จึงจะเป็นไปในลักษณะที่คณะกรรมการปรองดอง จะมีบทบาทสำคัญและสามารถชี้นำทิศทางของการเมืองไทยได้
ด้วยเหตุนี้เอง ชวน หลีกภัย จึงพยายามผลักดันกรรมการสมานฉันท์ให้เป็นรูปเป็นร่าง แม้มีเสียงคัดค้าน ทัดทานและเย้ยหยันก็ตาม
ล่าสุด ชวน หลีกภัย เปิดเผยว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ ขณะนี้เหลือเพียงรายชื่อจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ยังไม่ส่งมา เบื้องต้นทราบว่ามีการลงมติแล้วแต่ยังไม่เสนอเข้ามา โดยเมื่อได้รายชื่อจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็จะสามารถจัดการประชุมได้ ซึ่งตนจะร่วมประชุมในครั้งแรกด้วย และจะเสนอให้เลือกตัวแทนของสื่อมวลชนเข้ามาเป็น 1 ใน 4 ของผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการสมานฉันท์ เพราะเชื่อว่าสื่อมวลชน จะสามารถช่วยงานด้านการสร้างความปรองดอง แก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ขณะเดียวกันสื่อมวลชนเอง ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความปรองดอง หรือความขัดแย้งได้ด้วยเช่นกัน
องค์ประกอบกรรมการสมานฉันท์
สำหรับกรรมการสมานฉันท์ที่วางไว้มีทั้งหมด 21 คน จาก 7 ฝ่าย ประกอบด้วย
1.ผู้แทนผู้ชุมนุม 2 คน (กลุ่มเห็นต่างกับรัฐบาล)
2.ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นอื่น 2 คน (กลุ่มเห็นด้วยกับรัฐบาล)
3.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน
4.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน
5.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน
6.ผู้แทน ส.ว 2 คน
7. ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ประกอบด้วย
-บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอชื่อ 3 คน
-บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเสนอ 1 คน
-บุคคลซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเสนอ 1 คน
-ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4 คน
เปิดชื่อกรรมการสมานฉันท์
ในเบื้องต้น กรรมการสมานฉันท์ ในส่วนของตัวแทนรัฐบาลที่เสนอเข้ามา 2 คน คือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล 2 คน คือ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
ส่วนตัวแทน ส.ว. 2 คน คือ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และ นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร
ส่วนตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 3 คน , ตัวแทนจากที่ประชุมอธิการบดีเทคโนโลยีราชมงคล 1 คน ยังไม่เปิดเผยชื่อ
ส่วนฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมยืนยัน ไม่เอาด้วย
ชวน หลีกภัย แสดงความเห็นกรณีฝ่ายค้านไม่เอาด้วยว่า สำหรับกรณีที่ฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์นั้น เท่าที่คุยกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน เห็นว่าสัดส่วนกรรมการของฝ่ายค้านน้อยเกินไป จึงได้ชี้แจงว่ากรรมการสมานฉันท์ เป็นเพียงการระดมความคิดเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การลงมติ อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายค้านยังติดใจเรื่องสัดส่วน ก็สามารถมีข้อเสนอตามที่เห็นสมควรได้ แต่หากไม่สนใจเข้าร่วม ก็ไม่อาจไปบังคับได้
แม้ไม่มีชื่อของชวน หลีกภัย ในกรรมการสมานฉันท์ กระนั้น ก็มองออกว่าประธานสภา จะมีบทบาทสำคัญในกรรมการชุดนี้ เพราะถือเป็นสารตั้งต้น ที่ก่อให้เกิดองค์คณะปรองดอง
ชวน หลีกภัย มีอิทธิพลขนาดว่า จะเสนอสื่อมวลชน ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สื่อมวลชน ก็จะได้เข้าไปร่วมในกรรมการปรองดอง เพราะว่าชวน เป็นผู้เสนอ
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว ต้องรอดูว่าความพยายามของชวน หลีกภัย จะเป็นที่ยอมรับของสาธารณะมากน้อยเพียงใด
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง แม้หลายฝ่ายจะร้องหาความปรองดอง แต่หลายฝ่ายก็มองว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความเห็นธรรมก่อน