คลังโว! มีเงินเฉียด 5 ล.ล. รับมือโควิดฯปี’64
คลังโว! รัฐบาลมีเงินรับมือโควิดฯและวิกฤตเศรษฐกิจอื่น ตลอดปี’64 มัดก้อนรวมกัน “งบประมาณปี’64 + ส่วนเหลือเงินกู้ 1 ล.ล. + เงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ + เงินกู้ใหม่ตามกรอบวินัยการคลัง” กว่า 4.89 ล.ล.บาท ขณะที่ “อาคม” ย้ำ! มีการยกยอดเงินคงคลัง จากปีก่อนสูงถึง 5.7 แสน ล.บาท ส่วน รองฯสุพัฒนพงษ์ เชื่อมั่น รัฐบาลและคนไทย จะก้าวผ่านวิกฤตโควิดฯได้แน่
2 ขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาล อย่าง…นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงนโยบายภาครัฐที่จะนำมาใช้เพื่อก้าวข้ามวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด -19 ระหว่างร่วมงาน ดินเนอร์ ทอล์ค “แนวหน้า forum # 3” ณ ร.ร.มิราเคิลแกรนด์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 ธ.ค.2563
มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดย นายสุพัฒนพงษ์ ระบุตอนหนึ่งว่า หากนับตั้งแต่เดือน เม.ย.จนถึงวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ จนได้รับการยอมรับและยกย่องจากทั่วโลก
ทว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดฯรอบใหม่เป็นจำนวนมาก ที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. แต่ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่า ภาครัฐและทุกภาคส่วนในสังคมไทย จะช่วยกันดูแลป้องกันด้วยสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เหมือนเช่นก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามากำกับดูแลอย่างดี และสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดผลกระทบโดยเร็ว รวมทั้งหามาตรการเยียวยาต่างๆ ซึ่งความสำเร็จ เกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนด้วย อย่างไรก็ตามขอให้เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยสามารถจะกลับมาได้ในเร็วๆนี้
ขณะที่ นายอาคม ระบุ ภาครัฐมีแผนปฏิบัติการเชิงรุกจากพลังความร่วมมือ 3 ผสาน คือ การคลัง การเงิน และตลาดทุน เพราะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่าน ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เดินหน้าแบ่งเป็น 3 ระยะ
1.ระยะเยียวยา รัฐบาลทั่วโลกมี 2 โมเดลให้เลือก คือ “ปิดประเทศ” และ “สร้างสมดุล” ซึ่งรัฐบาลไทย ใช้โมเดล “ปิดประเทศ” เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนภายในประเทศ จากนั้น ก็ใช้โมเดลสร้างสมดุล การจำกัดการแพร่ระบาด พร้อมประคองเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบาลานซ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
2.ระยะบรรเทา เนื่องจากงบประมาณปกติไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงต้องกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นำมาใช้ในโครงการเยียวยา (เราไม่ทิ้งกัน, เราเที่ยวด้วยกัน)
และ 3.ระยะฟื้นฟู ผ่านโครงการคนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เร่งการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากครึ่งหนึ่งของจีดีพี มาจากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ
ทั้งนี้ ถือว่าประเทศไทยสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยไตรมาส 3 ติดลบน้อยลงกว่าที่คาด และลดจาก -12% ในไตรมาส 2 โดยคาดว่าทั้งปี จีดีพีจะอยู่ที่ -6% และเติบโตเป็นบวกในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เรากำลังประสบปัญหา 2 เรื่อง คือ พบการติดเชื้อโควิดฯครั้งใหม่ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง และภาครัฐได้ออกมาตรการที่เข้มงวด นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่า ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น กรณีเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินสำรองทางการที่มีมาก
“ที่สำคัญขณะนี้ เรามีเงินคงคลังที่ยกยอดมาจากปี 2563 สูงถึง 5.7 แสนล้านบาท สามารถจะรับมือหากจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์ประเทศได้อย่างแน่นอน” รมว.คลัง ระบุ
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ จะรุนแรงแค่ไหน? อย่างไร? แต่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ก็พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ตนบอกไม่ได้ว่าจะต้องเตรียมงบประมาณเพื่อการนี้เท่าใด แต่ขณะนี้ นอกจากงบประมาณปี 2564 จำนวน 3.29 ล้านล้านบาท ยังมีเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เหลืออีกไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท รวมถึงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกราว 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมเงินกู้ตามกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินคลัง ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี อีกไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท
“ยังตอบไม่ได้ว่า รัฐบาลจะต้องเตรียมวงเงินในปี 2564 ซึ่งโลกยังประสบปัญหาไวรัสโควิดฯ ไว้เท่าใด แต่มีมากพอจะใช้รับมือกับวิกฤตใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้ มีรัฐบาลของหลายประเทศได้กู้เงินในสัดส่วนที่เกิน 100% ของจีดีพี โดยในส่วนของรัฐบาลไทย กฎหมายก็ไม่ได้ปิดช่องในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็นในอนาคต” ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำ.