กรมศุลฯเร่งบูรณาการหนุนส่งออกไปจีน
กรมศุลกากร “ชูธง” จัดตั้ง “ศูนย์คุมเข้ม-อำนวยความสะดวก” นำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นๆ หวังหนุนการค้าผ่านแดน “ไทย-จีนตอนใต้” คาดไตรมาสแรกปีนี้ อาจได้เห็นการบูรณาการของหลายหน่วยงานรัฐจากไทยในดินแดนมังกร
แนวโน้มการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เติบโตขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เป็นไทยที่มักได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะในกลุ่มที่มีพรมแดนติดกัน โดยเฉพาะ CLM หรือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ไปจนถึงประเทศที่แม้จะไม่มีพรมแดนติดกัน แต่ก็ขนส่งสินค้าผ่านประเทศกั้นกลาง เช่น สิงคโปร์ และเวียดนาม (V)
ทว่าคงมีเพียงประเทศเดียว ที่ไทยขาดดุลการค้าชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ สาธารณประชาชนจีน โฟกัสเฉพาะจีนตอนใต้ (ภาพรวมการค้าทั้งประเทศ… ไทยขาดดุลมากกว่านี้)
ทั้งนี้ หากย้อนหลังไปดูมูลค่าการค้าผ่านแดน ระหว่างไทย-จีนตอนใต้ ย้อนหลังไป 3 ปี นับแต่ปี 2559 – 2561 ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง จัดทำขึ้นมา พบว่า มีมูลค่ารวม 66,142.89 ล้านบาท เป็นการส่งออกจากไทย 22,940.11 ล้านบาท และนำเข้าจากจีน 43,202.78 ล้านบาท เป็นผลให้ไทยขาดดุลการค้าจีน
ขณะที่ปี 2560 มูลค่าการค้ารวม 87,124.346 ล้านบาท เป็นส่งออก 37,245.05 ล้านบาท และนำเข้า 49,879.41 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าให้จีน 12,634.36 ล้านบาท ส่วนปี 2561 นำเข้า 103,451.09 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออก 32,.922.10 ล้านบาท นำเข้า 70,528.99 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 37,606.89 ล้านบาท
สำหรับการค้าผ่านแดนไทย-จีนตอนใต้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.2562) พบว่า มีมูลค่ารวม 59,540.84 ล้านบาท แยกเป็นส่งออก 23,942.72 ล้านบาท นำเข้า 35,598.12 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 11,655.40 ล้านบาท
เห็นได้ชัด! แนวโน้มการค้าชายค้าไทย-จีนตอนใต้ เพิ่มสูงขึ้นทุก และไทยก็มีแนวโน้มขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อะไรทำให้ประเทศซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก และมีความต้องการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารการกิน พืชผักและผลไม้ รวมถึงสินค้าต่อเนื่องอื่นๆ แต่กลับได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก”
เท่าที่ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS สืบเสาะจากแหล่งข้อมูลหลายๆ หน่วยงาน พบว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าจากจีนมีราคาถูกกว่าการผลิตภายในประเทศ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะรสนิยมชอบสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ สินค้าที่ไม่มีการผลิตในประเทศ แม้จะมีสินค้าทดแทนอื่นๆ ที่ผลิตได้ในประเทศ แต่กับคนไทย…ชอบที่จะเสพของนอกมากกว่า
แต่นั่นหาใช่ประเด็นสำคัญที่เราต้องพูดกันต่อจากนี้ เพราะสาระสำคัญของเรื่องนี้ น่าจะมาจากกระบวนการ “คุมเข้ม” การนำเข้าสินค้าจากไทยของทางการจีนมากกว่า
ยิ่งเข้มงวดกวดขัน สร้างกติกาหยุมหยิมมากเท่าใด การนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มอาหารการกิน พืชผักและผลไม้ และสินค้าต่อเนื่องดังที่กล่าวในข้างต้น ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยาก จึงไม่แปลกใจที่เหตุใด ไทยจึงดุลการค้ากับจีนตอนใต้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นั่นเพราะสินค้าจีน…เข้าไทยได้ง่ายเหลือเกิน ขณะที่การส่งออกสินค้าจากไทย…กลับทำได้ยากถึงยากที่สุด
ประเด็นเหล่านี้ มีใครในรัฐบาลชุดนี้ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง…มองเห็นเป็นประเด็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไขหรือไม่? อย่างไร? เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS มีคำตอบ!
อย่างน้อยก็มีกรมศุลกากร ในยุคของ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีฯ ที่มองเห็นปัญหานี้ และพยายามจะเข้าไปแก้ไข ทั้งในมิติ “เชิงเดี่ยว” ภาคใต้การทำงานในส่วนของกรมศุลกากร และมิติ “เชิงซ้อน” ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ แม้กระทั่ง กระทรวงสาธารณสุข
อธิบดีกรมศุลกากร บอกเมื่อช่วงปลายปี 2562 ว่า ขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ระหว่างดำเนินการ และประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงประสานไปยังหน่วยงานของจีน เพื่อจัดตั้งศูนย์อำนวยการของทางการไทยในฝั่งจีน และของทางการจีนในฝั่งไทย โดยศูนย์ดังกล่าวจะรวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้า ทั้งในส่วนของอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค พืชผักผลไม้ และอื่นๆ
อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ รวมถึงกรมศุลกากร ทั้งหมดจะบูรณาการในการทำงานร่วมกัน พร้อมทำหน้าที่ควบคุมดูแล และอำนวยความสะดวกให้กับสินค้าไทยไปจีน และจากจีนมาไทย โดยจะคอยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ “ต้นทางยันปลายทาง” ได้แก่ ประเทศที่นำเข้าและส่งออกระหว่างกัน และมีจีนเป็นเป้าหมายหลักของแนวคิดนี้ ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากร ยืนยันว่า ได้รับความเห็บชอบจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งของไทยและจากฝั่งจีน
“กรมศุลกากรได้เร่งประสานงานกับทั้งฝั่งไทยและจีน คาดว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ โดยจะพยายามดำเนินการจัดตั้งให้เร็วที่สุด หากสามารถดำเนินจัดตั้งได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกและนำเข้าของไทยและจีน เพราะการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและมาตรฐานความปลอดภัยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ในประเทศต้นทาง ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร ที่หากใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนานเกินไป อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการเน่าเสีย หรือไม่สามารถจะควบคุมคุณภาพได้ตามที่ต้องการได้” นายกฤษฎา ย้ำ
ถึงตรงนี้ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ต้องขอชื่นชม อธิบดีกรมศุลกากรท่านนี้ ที่ไม่เพียง “มากวิสัยทัศน์” หากแต่ยัง “คิดและมองการณ์ไกล” ต่อการจะปกป้องสินค้าส่งออกจากไทย พร้อมกับอำนวยความสะดวกและโอกาสให้ผู้ส่งออกสินค้าตามชายแดน อย่างน้อย…การเพิ่มยอดส่งออกสินค้าไทยไปจีน ก็น่าจะลดการขาดดุลการค้ากับจีนได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
สำคัญกว่านั้น คือ การตรวจเข้มจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นทาง…ชายแดนฝั่งจีน จะช่วยลดปัญหา “สินค้าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ” ที่ส่งออกมาขายในไทยได้ง่ายเกินไป จนหลายฝ่ายไม่แน่ใจว่า…สินค้านำเข้าจากจีน โดยเฉพาะ พืชผักผลไม้และสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ จะมีความปลอดภัยมากแค่ไหนกัน?.